"หมอธีระวัฒน์" ชี้อาการผื่นตุ่มแยกยาก ว่าเป็นฝีดาษลิง-สุกใส-เริม ส่วนวัคซีนเก่าหากไม่ระบาดก็ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเสี่ยงสูง
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแยกอาการผื่นตุ่มระหว่างโรคฝีดาษลิงและเริม ว่า ลักษณะผ่ืน ตุ่มที่ผิวหนังจากโรคบางครั้งแยกยาก ที่แยกยากสุด คือ อีสุกอีใส บางประเทศในแอฟริกาพบว่า คนในพื้นที่ติดเชื้อซ้ำสองตัวพร้อมกัน คือ อีสุกอีใสและฝีดาษลิง พบ 12.5%
สำหรับประเทศไทยโอกาสเป็นอีสุกอีใสอาจจะน้อย เพราะเด็กรับวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว แต่ผู้สูงอายุที่เคยเป็นตั้งแต่เด็ก ขณะนี้เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง ภาวะอีสุกอีใสก็จะออกมาจนกลายเป็นงูสวัด หากออกมาแล้วปะทุบางตำแหน่ง บางที่อาจจะทำให้ดูยาก และอาจเกิดความกังวลว่าเป็นฝีดาษลิง โดยเฉพาะงูสวัดที่แพร่ไปทั้งตัว ซึ่งเกิดได้ในคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็อาจจะสับสนว่าเป็นฝีดาษลิง
สำหรับเริมอยู่ในตระกูลเดียวกับงูสวัดและอีสุกอีใส ลักษณะของเริมส่วนมากจะกระจุกอยู่เฉพาะที่บริเวณริมฝีปาก ภายในปาก กระพุงแก้ม อวัยวะเพศลงไปถึงก้น จึงอาจจะเป็นที่กังวล เพราะสถานการณ์ฝีดาษลิงมีรายงานพบว่า บางรายไปมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งบังเอิญตุ่มหนองยังไม่ได้โผล่บริเวณอวัยวะภายนอกที่หน้า ลำตัว แขน แต่เกิดที่อวัยวะเพศ จึงไม่รู้ตัวและมีเพศสัมพันธ์ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดการติดเชื้อและแพร่ได้ ดังนั้น เริมก็มักขึ้นที่อวัยะเพศจึงเป็นที่กังวลว่าจะเป็นฝีดาษลิงหรือไม่ ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเป็นฝีดาษลิงหรือเริม แต่การสงสัยไว้ก่อนเพื่อกันพลาด เป็นสิ่งที่ดี
ส่วนกรณีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพวัคซีนฝีดาษที่แช่แข็งกว่า 40 ปีหากจะนำมาใช้นั้น วัคซีนฝีดาษที่เคยใช้ในสมัยโบราณ โอกาสที่จะนำมาใช้ใหม่อาจจะมีข้อจำกัด อาจจะมีผลข้างเคียง จึงอาจจะใช้ไม่ได้ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แตาหากมีการระบาดเกิดขึ้นจริงทั้งโลกหรือทั้งประเทศ ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่เสี่ยงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันหากจะไปใช้วัคซีนไข้ทรพิษกันฝีดาษลิงที่สหรัฐอเมริกาหรือในอังกฤษมีการใช้บางกลุ่ม ก็อาจจะต้องแย่งชิงกับประเทศอื่นหากมีการระบาดเกิดขึ้นจริง