มีข่าวเรื่องเด็กถูกกล้อนผมโดยคุณครูอีกแล้ว
ข่าวคราวเรื่องเด็กนักเรียนชายถูกคุณครูกล้อนผมอันเนื่องมาจากเด็กไม่ตัดผมตามกฏระเบียบของโรงเรียน ทำให้ครูฝ่ายปกครองใช้กรรไกรตัดกล้อนผมนักเรียนชั้นม. 2 นับสิบคนจนผมแหว่ง กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในโลกออนไลน์อีกครั้ง
สุดท้ายคุณครูก็ต้องออกมาขอโทษเด็กนักเรียนและผู้ปกครองอีกแล้ว !
ส่วนเรื่องที่ว่าขอโทษแล้วเรื่องคงจบนั้น ดูเหมือนผู้กระทำอาจจบ แต่สำหรับเด็กที่ถูกกระทำยังมีสิ่งที่หลงเหลือค้างคาและเป็นเรื่องยากที่จะลบเลือนจากใจไปอีกนาน
ใครที่ผ่านชีวิตวัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษา คงได้เคยผ่านประสบการณ์เรื่องระเบียบวินัยทรงผมที่ต้องเป็นทรงที่ถูกระเบียบของโรงเรียนกันมาบ้างแล้ว และทรงที่ถูกระเบียบก็มักเป็นทรงที่ทรมานช่วงชีวิตวัยรุ่นของเด็กหนุ่มสาว
และใครจะไปคิดว่าวันเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี บ้านเราก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ทรงผม” ของเด็ก
ทั้งที่มีการปรับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่ได้กำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติในการไว้ทรงผมของนักเรียนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา และการปฏิบัติตนของนักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กำหนดไว้ใน ข้อ 4 และข้อ 5
ข้อ 4 นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผม ดังนี้
(1) นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย
(2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย
ข้อ 5 นักเรียนต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้
(1) ดัดผม
(2) ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม
(3) ไว้หนวดหรือเครา
(4) การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผม เป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย
แต่สุดท้ายก็ไม่วายเกิดเหตุการณ์ซ้ำ ๆ อีกจนได้
ความจริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกปีในช่วงเปิดเทอม เพียงแต่ในยุคสมัยก่อนการถูกทำโทษให้อับอายจะอยู่เพียงในโรงเรียน แต่ยุคปัจจุบันมีการถ่ายภาพหรือคลิป และนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์
ประเด็นเรื่องระเบียบวินัยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ประเด็นเรื่องพัฒนาการตามวัย การเรียนรู้ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงวัยของเด็กวัยรุ่น ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พวกเขาจะสนใจเรื่องรักสวยรักงามมากขึ้น อยากไว้ผมยาวบ้าง เด็กจำนวนมากที่เกิดคำถามเรื่องทรงผม ทำไมผมยาวถึงดูไม่เป็นระเบียบ ทั้ง ๆ ที่การไว้ผมยาวไม่ได้แปลว่าเป็นคนเกเร หรือทำให้การเรียนแย่ลง
ปัญหาอยู่ที่วิธีจัดการปัญหาของโรงเรียน ที่ควรจะมีขั้นตอน มีการตักเตือน การลงโทษสามารถทำได้แต่ไม่ใช่วิธีการกล้อนผมทำให้เด็กอับอาย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการที่ครูบูลลี่ลูกศิษย์ !
แม้ความคิดต้องการให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน แต่วิธีการของคุณครูสะท้อนว่าต้องการควบคุมจึงเน้นไปที่บทลงโทษ โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมอื่น ๆ ที่ควรจะคู่ขนานเอื้อให้เด็กกลุ่มเหล่านี้ด้วย
ที่จริงก็มี “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548” ระบุวิธีการลงโทษในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญดังนี้
ข้อ 4. ...“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน
ข้อ 5. โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 4 สถาน ดังนี้
(1) ว่ากล่าวตักเตือน
(2) ทำทัณฑ์บน
(3) ตัดคะแนนประพฤติ
(4) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ไม่มีข้อใดที่ให้อำนาจของคุณครูลงโทษกล้อนผมเด็ก หรือละเมิดเหนือสิทธิร่างกายของนักเรียนได้
หรือว่าครูไม่เคยอ่านไม่เคยรู้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเลย และไม่เคยรู้ความเคลื่อนไหวต่อกระแสสังคม โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์เลยหรือ !?
การตัดผมให้แหว่งหรือกล้อมผม แม้ไม่ได้ส่งผลรุนแรงเกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย แต่ก็สร้างความอับอายให้แก่เด็ก อันจะทำให้เกิดบาดแผลทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงแก่นักเรียนได้
นี่ยังไม่นับการนำรูปไปโพสต์บนโลกออนไลน์ที่ยังเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอีกต่างหาก
อย่าลืมว่าการลงโทษเด็ก ไม่ว่าจะด้วยน้ำมือของพ่อแม่ หรือคุณครู ฯลฯ ถ้าปราศจากการลงโทษด้วยความรัก ความเมตตา แต่ลงโทษโดยอ้างว่าทำเพื่อเด็ก หรือเพียงเพราะเด็กไม่ทำอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ หรือไม่ระมัดระวัง หรือไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าหวังดีต่อเด็ก ฯลฯ
สุดท้ายผลกระทบก็ตกไปที่ตัวเด็ก กลายเป็นเหยื่อของโมหะและโทสะของผู้ใหญ่อยู่ดี
แอบคิดและหวังว่าจะไม่ต้องวนเวียนกลับมาเขียนเรื่องทำนองนี้อีก