xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 10 อันดับโรค "บัตรทอง" รักษาผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยในสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิด 10 อันดับโรค "บัตรทอง" รักษาผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในสูงสุด ปีงบ 64 พบผู้ป่วยนอกรับบริการ 25.47 ล้านครั้ง "ความดัน" มากสุด 25.4 ล้านครั้ง เบาหวาน 13.8 ล้านครั้ง ส่วนผู้ป่วยใน 5.75 ล้านครั้ง เป็นแยกรักษาโควิดสูงสุด 2.8 แสนครั้ง

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.77 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 3,719.23 บาทต่อคน เป็นงบบริการผู้ป่วยนอก 1,280.01 บาทต่อคน และงบบริการผู้ป่วยใน 1,440.03 บาทต่อคน สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.64 ล้านคน ซึ่งรายงานผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2564 พบว่า มีบริการผู้ป่วยนอก 161.71 ล้านครั้ง เพิ่มจากปีงบประมาณ 2546 ที่มี 111.95 ล้านครั้ง เฉลี่ยจาก 2.45 ครั้งต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 3.437 ครั้งต่อคนต่อปี ส่วนบริการผู้ป่วยใน 5.75 ล้านครั้ง เพิ่มจากปีงบประมาณ 2546 ที่มี 4.3 ล้านครั้ง เฉลี่ยจาก 0.094 ครั้งต่อคนต่อปี เป็น 0.122 ครั้งต่อคนต่อปี

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า บริการผู้ป่วยนอก โรคหรือกลุ่มโรคที่เข้ารับบริการมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1.โรคความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ 25.47 ล้านครั้ง 2.โรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 13.84 ล้านครั้ง 3.ความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไลโปโปรตีนและภาวะไขมันในเลือดอื่นหรือไขมันในเลือดผิดปกติ 11.24 ล้านครั้ง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.47 ล้านครั้ง

5.เยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลันหรือโรคหวัด 5.13 ล้านครั้ง 6.ความผิดปกติแบบอื่นของเนื้อเยื่ออ่อน ปวดกล้ามเนื้อ 4.16 ล้านครั้ง 7.โรคกระเพาะอาหาร 3.21 ล้านครั้ง 8.ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกอื่น 2.73 ล้านครั้ง 9.โรคฟันผุ 2.72 ล้านครั้ง และ 10.เวียนศีรษะ วิงเวียน 2.20 ล้านครั้ง


ส่วนบริการผู้ป่วยใน โรคหรือกลุ่มโรคที่เข้ารักษานอนใน รพ.ระบบบัตรทองสูงสุด 10 อันดับแรก คือ 1.ภาวะต้องการมาตรการป้องกันโรคโดยการแยกกักตัวและรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 รวม 2.68 แสนครั้ง 2.ปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส 2.28 แสนครั้ง 3.ทารกปกติที่คลอดใน รพ. 2.25 แสนครั้ง 4.กระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบและลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ และจากสาเหตุที่ไม่ระบุ 1.92 แสนครั้ง

5.โรคปอดบวมไม่ระบุเชื้อต้นเหตุ 1.45 แสนครั้ง 6.โรคไตวายเรื้อรัง 1.21 แสนครั้ง 7.มารดาคลอดธรรมชาติ (ครรภ์เดี่ยว) 1.08 แสนครั้ง 8.ภาวะหัวใจล้มเหลว 1.08 แสนครั้ง 9. โรคธาลัสซีเมีย 1.03 แสนครั้ง และ 10.การผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ 9.76 หมื่นครั้ง

"ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับบริการ ซึ่งกองทุนบัตรทองดูแลผู้มีสิทธิทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาได้ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยและครอบครัว แม้แต่ในสถานการณ์โรคโควิด 19 ผู้ป่วยโรคต่างๆ ยังคงได้รับการดูแลต่อเนื่อง ข้อมูลยังสะท้อนถึงปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ใช้เป็นฐานข้อมูลนำไปวางแผนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ให้ประชากรไทยมีสุขภาพดี ลดภาระค่ารักษาพยาบาลของประเทศในอนาคต" พญ.ลลิตยากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น