xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนไทยต้องแก้เร่งด่วน “Thailand Policy Lab” ระบุโควิด-19 ทำเยาวชนไทยเครียด จนระบายในโลกออนไลน์กว่า 100,000 ข้อความ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“Thailand Policy Lab” ระบุโควิด-19 ทำเยาวชนไทยเครียด จนระบายในโลกออนไลน์กว่า 100,000 ข้อความ ชี้ วัยรุ่นไทย 1 ใน 7 พยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ครั้ง

วันนี้ (21 พ.ค.) ห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Thailand Policy Lab ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ได้จัดงานเสวนา “เปิดหน้าปัญหาสุขภาพจิตคนรุ่นใหม่” โลกไปไกล นโยบายไทยต้องปรับตาม ขึ้นที่ TK Park เพื่อพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้งเปิดตัว Data Visualization ครั้งแรกกับแพลตฟอร์มที่รวบรวมความคิดเห็นของเยาวชนต่อเรื่องสุขภาพจิตบนโซเชียลมีเดียมากกว่า 100,000 ข้อความ และมากกว่า 10 ล้าน engagement (ไลก์ แชร์ คอมเมนท์) เพื่อนำมาซึ่งข้อมูลเชิงลึกในการออกแบบนโยบายด้านสุขภาพจิตเพื่อเยาวชนโดยเยาวชน https://thailandpolicylab.com/our_work/youthmentalhealthpolicy/
นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ระบุว่า หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 มากกว่า 2 ปี แม้ขณะนี้นักเรียนจะสามารถไปโรงเรียนได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถมีวิถีชีวิตตามปกติได้ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างมาก Thailand Policy Lab จึงได้นำเครื่องมือนวัตกรรมอย่าง social listening มากวาดจับความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน คือ จิต กาย ปัญญา และ สังคม และ นำมาเป็นข้อมูลสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนไทยต่อไป

ด้าน นายพงศ์ปณต ดีคง ผู้ช่วยด้านนวัตกรรมสังคมและนโยบาย Thailand Policy Lab ระบุว่า ระบบ Data Visualization สามารถกวาดจับได้มากกว่า 100,000 ข้อความ และ มีมากกว่า 10 ล้าน social media engagement ซึ่งพบว่าในด้านสุขภาวะทางจิต เยาวชนระบายคำว่า “เครียด” เกือบ 60,000 ข้อความ ในด้านสุขภาวะทางสังคม เยาวชนระบายคำว่า “เหงา” มากที่สุด มากกว่า 42,000 ข้อความ ในด้านสุขภาวะด้านร่างกาย เยาวชนระบายคำว่า “นอนไม่หลับ” มากที่สุด มากกว่า 2,700 ข้อความ ในด้านสุขภาวะด้านปัญญา เยาวชนระบายคำว่า “ไม่มีความรู้” มากที่สุด มากกว่า 550 ข้อความ ขณะที่บางส่วนระบายว่า วิตกกังวล เบื่อหน่าย และ อยากฆ่าตัวตาย สาเหตุร่วมกันของปัญหาสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน มาจากการเรียนออนไลน์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีผลกระทบทางด้านสติปัญญา 70% ร่างกาย 91% จิตใจ 88% และ สังคม 56%

ส่วน ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) บอกว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า วัยรุ่น 1 ใน 5 รู้สึกเหงาโดดเดี่ยว วัยรุ่น 1 ใน 7 คน เครียดจนนอนไม่หลับ และ วัยรุ่น 1 ใน 7 คน เคยพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 1 ครั้ง โดยวัยรุ่นหญิง มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าวัยรุ่นชาย และปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจะส่งผลไปถึงสุขภาพจิตเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ด้วย จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ นายศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ สมาชิกศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษามีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก การเรียนออนไลน์ทำให้เกิดความเครียดที่ต้องถูกจำกัดอยู่ในห้องและหน้าจอ แม้จะพยายามปรับตัวด้วยการแชทหรือเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนได้ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนธรรมชาติของเยาวชนในการสร้างปฎิสัมพันธ์ในสังคมไปอย่างน่ากลัว ขณะที่ครูและอาจารย์จำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการสอนออนไลน์มากนัก ซึ่งส่งผลกระทบกับการเรียนรู้ของเยาวชนอย่างมาก

นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการการทำงานระหว่างครูแนะแนว ครูประจำชั้น และนักจิตวิทยา เพราะแม้ทุกโรงเรียนจะมีครูแนะแนวแต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่สุขภาพจิตของเด็ก แต่เพราะโควิด-19 ครูแนะแนวจำเป็นที่จะต้องทำงานมากขึ้น โดยจำเป็นที่จะต้องทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เช่น นักจิตวิทยา โดยขณะนี้มีนโยบายที่จะให้มีนักจิตวิทยาประจำอยู่ที่เขตการศึกษา เขตละ 1 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงควรมีนักจิตวิทยาประจำอยู่ทุกโรงเรียนมากกว่า แต่ระหว่างนี้ควรมีการฝึกอบรมครูแนะแนวให้เข้าใจในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ และทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกันกับนักจิตวิทยาภายนอกเพื่อแก้ปัญหา

“ขณะที่นักจิตวิทยาไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่ให้คำแนะนำกับนักเรียนเท่านั้น แต่ควรให้คำปรึกษาให้กับครูด้วย ขณะที่ครูต้องเฝ้าระวังสถานการณ์สุขภาพจิตนักเรียนในช่วงนี้ให้ดี เพราะเป็นระยะปรับตัวที่เด็กเริ่มกลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง หลังต้องเรียนออนไลน์มานานกว่า 2 ปี เพื่อหาทางออกปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนไทย Thailand Policy Lab จะเข้ามาแฮ็กทางออกและวางนโยบายร่วมกัน (policy hackathon) ในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 โดยให้เยาวชนร่วมออกแบบนโยบายใน 4 ด้าน คือ การแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต (protection) การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต (prevention) การส่งเสริมความเข้าใจด้านสุขภาพจิต (promotion) และอนาคตของการศึกษาที่เข้าใจสุขภาพจิตของผู้เรียน (future of education) เพื่อให้ได้การแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น