xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสัญญาณเสี่ยงโรค "ข้อกระดูกสันหลัง" อักเสบยึดติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอเผยปวดหลังเรื้อรัง หลังยึดติด อาจเป็นโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดยึดติด เสี่ยงภาวะสันหลังคด ทรงตัวลำบาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยังหาสาเหตุไม่ได้ คาดเกิดจากพันธุกรรม มีญาติเป้นโรคเดียวกัน มักพบในอายุน้อย 20-30 ปี ชายมากกว่าหญิง

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดยึดติด ว่า ถือเป็นโรคหลักในกลุ่มโรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายกัน คือ มีการอักเสบของข้อกระดูกสันหลัง ข้อต่อตามร่างกาย การอักเสบที่กระดูกบริเวณที่เส้นเอ็นยึดเกาะ การอักเสบของม่านตาและลำไส้ ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดสะโพกเรื้อรังโดยเฉพาะช่วงเช้าหรือหลังพักผ่อน อาการหลังติดยึดทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ทำงานไม่ได้ จนเกิดภาวะหลังคด ทรงตัวลำบากและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคได้ แต่คาดว่าโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น พันธุกรรม ตรวจพบโปรตีน HLA-B27 ผู้ป่วยโรคนี้มักมีญาติเป็นโรคเช่นเดียวกัน อายุจะเริ่มแสดงอาการในผู้ป่วยอายุน้อย ระหว่าง 20-30 ปี พบเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาบรรเทาอาการ เพราะหากปล่อยให้อาการรุนแรงมากขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค ปัจจุบันใช้ Modified New York Criteria โดยให้การวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะแรก และติดตามการเปลี่ยนแปลงผลการรักษาของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ติดตามการดำเนินโรคได้อย่างถูกต้อง และปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยอายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์ทางด้านโรคข้อและรูมาติสซัม และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู วินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและแยกโรคร่วมหรือการอักเสบชนิดอื่นๆ

"การรักษาหลักคือ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการสังเกตตัวเองและเข้าใจตัวโรคว่า ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมและชะลอการดำเนินโรคได้ การรักษาจำเป็นต้องให้ยาเพื่อคุมการอักเสบเรื้อรังและอาการปวดแบบต่างๆ ควรบริหารร่างกายเพื่อยืดหยุ่นข้อต่อและกล้ามเนื้อ จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้สะดวกใกล้เคียงปกติและป้องกันข้อติดยึด อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะท้ายของโรค การรักษาด้วยยาและกายภาพอาจไม่เพียงพอ ต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขโครงสร้างและมีการดูแลแบบสหวิชาชีพต่อไป" นพ.ธนินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น