อย.เผยสาวเมืองกาญจน์ เกิดแผลพุพองหลังรับวัคซีนโควิด เป็นโครงการวิจัยจอห์นสันฯ โดยคณะเวชศาสตร์ฯ มหิดล ชี้ วัคซีนขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว ขอ คกก.จริยธรรมฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย สปสช.เขต 5 เผย เกิดอาการหลังฉีด 80 วัน ผ่านการติดตามมา 3 ครั้ง เข้าเกณฑ์เยียวยา แนะยื่นเรื่องเพื่อเข้าสู่การพิจารณาสัปดาห์หน้า
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีสาวเมืองกาญจนบุรี ที่มีอาการแผลพุพองตามร่างกาย หลังรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กาญจนบุรี ตรวจสอบพบเป็นการเข้าร่วมโครงการวิจัยวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ว่า เรื่องการศึกษาวิจัยวัคซีน หรือยาในประเทศไทย หรือในคนไทย หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือวัคซีนที่ อย.ขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัยได้ โดยผ่านคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในคนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ วัคซีนจอห์นสันฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไปเมื่อปี 2564 แบบการใช้ในภาวะฉุกเฉิน และต่ออายุวัคซีนแล้ว จึงสามารถทดสอบได้ตามโปรโตคอล
“จากการตรวจสอบทราบว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล โดย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน หัวหน้าหน่วยวิจัยโรคติดเชื้อทางคลินิก และรักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน ได้ทำโครงการทดสอบวัคซีนจอนห์สันฯ ไปเมื่อ ม.ค.2565” นพ.ไพศาล กล่าว
เมื่อถามว่า การศึกษาวิจัยวัคซีน ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการศึกษาวิจัยจริงๆ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ประชาชนสามารถดูได้จากข้อมูลและหนังสือสัญญาก่อนยินยอมเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัยนั้นๆ ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของผู้ศึกษาวิจัยและหน่วยงานวิจัย รวมถึงการประกันสุขภาพกรณีที่มีผลกระทบหลังจากการศึกษาวิจัยด้วย
ด้าน นางทิพาพรรณ หอศิวาลัย รอง ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี กล่าวว่า หลังจากรับทราบข้อมูลได้ประสานไปยังกลุ่มงานประกันหลักประกันสุขภาพจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง เบื้องต้นพบว่า เป็นการรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและ รพ.แห่งหนึ่ง โดยเป็นการทดลองทางคลินิกวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ จากข้อมูลในการติดตามอาการภายหลังการฉีดตามระยะเวลาของผู้ป่วยรายนี้ ในช่วงการติดตาม 3 ครั้งแรก ผู้ป่วยยังไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่เริ่มมีอาการพุพองในช่วงวันที่ 80 หลังการฉีด และหลังจากนั้นผู้ป่วยก็ไม่มารับการติดตามต่อเนื่อง จนเกิดภาวะแผลติดเชื้อขึ้น ซึ่งขณะนี้ รพ.พหลพยุหเสนาฯ ได้ลงไปดูแลและให้การรักษาผู้ป่วยแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รับผู้ป่วยรายนี้ถือเข้าเกณฑ์ที่สามารถขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จาก สปสช. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนได้ เนื่องจากการรับวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขอรับการช่วยเหลือที่กำหนด คือ ต้องเป็นการรับบริการฉีดวัคซีนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และเป็นการให้บริการฉีดโดยหน่วยบริการ ซึ่งขณะนี้ทาง สปสช.เขต 5 ราชบุรี ได้ประสานไปยัง รพ.พหลพยุหเสนาฯ และ สสจ.กาญจนบุรี เพื่อดำเนินการให้ผู้ป่วยยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือแล้ว
“รายนี้ถือเข้าหลักเกณฑ์การยื่นขอรับการช่วยเหลือ แต่จะได้รับการช่วยเหลือเท่าไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด 19 ระดับเขตพื้นที่ สปสช. เขต 5 ราชบุรี เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะมีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกวันอังคาร หากยื่นเรื่องเข้ามาได้ภายในสัปดาห์นี้ สปสช.เขต 5 ราชบุรี จะนำเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการในสัปดาห์หน้าทันที” รอง ผอ.สปสช. เขต 5 ราชบุรี กล่าวและว่า หลังเกิดภาวะเจ็บป่วยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยื่นคำร้องเข้ามา เนื่องจากผู้ป่วยเองขาดการเข้ารับการติดตามอาการ ทำให้ รพ.ที่ดูแลจึงไม่ทราบข้อมูลและไม่มีการยื่นเรื่องเข้ามา อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของอนุกรรมการไม่ล่าช้า ซึ่งจะเร่งให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือโดยเร็ว