xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัยยาทางเลือก “โควิด” 4 ตัว ให้ผลดี เดินหน้ารับอาสาสมัครเพิ่มให้ครบ 1.5 พันคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมวิจัยยาทางเลือก โควิด” เผยผลศึกษายา 4 ตัวที่ผ่าน อย.ใช้รักษาโรคอื่น นำมาใช้รักษาโควิดกลุ่มอาการไม่มาก จำนวน 400 คน พบได้ผลดี เดินหน้ารับอาสาสมัครเพิ่มให้ครบ 1,500 คน แบ่งกลุ่มศึกษาให้ละเอียดขึ้น ระบุมีผลวิจัยในต่างประเทศ “ฟลูวอกซามีน” ช่วยลดการนอน รพ.

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นพ.เลอชาน วรรณิกามา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และหัวหน้าทีมศึกษาการรักษาโรคโควิดในประเทศไทย กล่าวถึงการวิจัยโครงการทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาโรคโควิด-19 ด้วยยาฟลูวอกซามีน ยาบรอมเฮกซีน ยาไซโปรเฮปทาดีน และยานิโคลซาไมด์ ในการช่วยลดระยะเวลาฟื้นตัวและอัตราการเข้านอนโรงพยาบาล ว่า การใช้ยารักษาโควิดจะต้องใช้ยาที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในร่างกาย และยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ให้เกิดการอักเสบเกินจำเป็น เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ยาทางเลือกที่นำมาใช้ในการศึกษานี้เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอื่นอยู่แล้ว แต่ฤทธิ์ของยาสามารถทำให้เกิดผลทั้ง 2 ด้านนี้ และมีหลายผลวิจัยจากต่างประเทศ ยืนยันว่า ยามีประสิทธิภาพในการรักษาโควิดได้ดี คณะผู้วิจัยจึงเลือกที่จะนำมาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยทดลองใช้รักษาอาสาสมัครในประเทศไทย

“ยาต่างๆ ที่เลือกมาใช้เป็นยาที่ได้รับอนุมัติจาก อย. เป็นยาที่ใช้กันทั่วโลก 20-30 ปีแล้ว และรู้ว่าผลข้างเคียงมีอะไร เช่น บรอมเฮกซีน หรือ ไซโปรเฮปทาดีน แทบไม่มีผลข้างเคียงเลย คนไข้บางคนไม่รู้สึกอะไรเลย และยามีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อง่าย พูดเลยว่าถูกกว่ายาต้านไวรัสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาด” นพ.เลอชาน กล่าว


นพ.เลอชาน กล่าวว่า ภายหลังการทดลองกับอาสาสมัครผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่มาก จำนวน 400 คน ตั้งแต่ ก.ค. 2564 พบว่ายาที่ทดลองใช้ได้ผลดี สำหรับข้อมูลโดยละเอียดที่ผ่านการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อาจต้องรออีก 1-2 เดือน เมื่อทำรายงานผลการวิจัยออกมา นอกจากนี้ ยังมีการติดตามคนไข้ต่อเนื่องอีก 90 วัน เพื่อดูว่ามีอาการลองโควิดหรือไม่ ต้องเข้า รพ.โดยไม่จำเป็นหรือไม่หลังหายจากโควิด รวมถึงเก็บตัวอย่างเลือดบางกลุ่ม เพื่อดูว่าได้รับผลกระทบจากยา และผลตอบสนองในเชิงกายวิภาคเป็นอย่างไร ประเมินเชิงจิตสังคม ถามความรู้สึกของคนไข้และนำมาเปรียบเทียบกันด้วย ทั้งนี้ ยังต้องการเปิดรับอาสาสมัครเพิ่ม และตั้งเป้าจะศึกษาในอาสาสมัครให้ครบ 1,500 คนในขั้นต้น ซึ่งจะสามารถแบ่งกลุ่มอาสาสมัครที่รับการรักษาในแบบต่างๆ กลุ่มละอย่างน้อย 300 คน

“โครงการวิจัยนี้มีคณะแพทย์และผู้ช่วยวิจัยในประเทศไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เข้าร่วมกว่า 50 คน ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน รพ.ราชวิถี เลขที่เอกสารรับรอง https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT05087381 และได้รับทุนสนับสนุนจาก Socialgiver และทุนวิจัยต่างๆ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ไลน์ออฟฟิเชียล @2565-2565” นพ.เลอชาน กล่าว

นพ.เลอชาน กล่าวว่า อาสาสมัครจะได้รับยาในแบบต่างๆ โดยยาทางเลือกที่นำมาศึกษา ประกอบด้วย ยาฟลูวอกซามีนที่เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า แต่มีฤทธิ์ต้านไวรัสและต้านการอักเสบด้วย จึงใช้ในการต้านอักเสบ ส่วนยาไซโปรเฮปทาดีนเป็นยาต้านอักเสบและปรับภูมิคุ้มกันในระยะต้นของการรับเชื้อ ช่วยให้ไม่มีความเสียหายมากขึ้นและไม่มีการอักเสบเกินพอดี จึงใช้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานสู้กับไวรัส เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่อยากเอายามารวมกัน ส่วนอีกกลุ่มจะรวมกับบรอมเฮกซีน ซึ่งเป็นยาละลายเสมหะ แต่มีฤทธิ์ต้านไวรัสและต้านการอักเสบ และทดลองใช้ยานิโคลซาไมด์ซึ่งเป็นยาฆ่าพยาธิ แต่มีฤทธิ์ต้านไวรัส ซึ่งมีการศึกษาว่าลดการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้อย่างดี ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิดจะได้รับการซักประวัติและวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน

“ไม่ใช่คนไข้ทุกกลุ่มที่จะได้รับฟลูวอกซามีน เพราะคนไข้บางกลุ่มอาจจะไวต่อฟลูวอกซามีน อาจจะมีอาการถึงชีวิตได้ หรือจากประวัติอาจจะมีอาการทางจิตเวชบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยานี้ การศึกษายาอื่นๆ ด้วยทำให้มีทางเลือกมากขึ้นให้กับคนไข้ที่มีข้อห้ามใช้ในยาบางตัว” นพ.เลอชาน กล่าว


นพ.กติกา อรรฆศิลป์ แพทย์ชำนาญการ สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยหรือไกด์ไลน์ มีการพูดถึงยาฟลูวอกซามีนว่าใช้ได้ผลในคน ช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือด แต่อาจต้องทำการศึกษาวิจัยนำร่องการใช้ยาด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ และมีระบบติดตามผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เรียกว่า randomized-controlled trial นอกจากนี้ Harvard Medical School พูดถึงฟลูวอกซามีนด้วยในไกด์ไลน์ฉบับล่าสุดว่า มีการทดลองใช้ยานี้ในบราซิล ชื่อ Together Trial และผลการทดสอบกับ 1,500 คน พบว่า ยานี้ช่วยลดอัตราการเข้า รพ.อย่างมีนัยสำคัญ ลดระยะเวลาในการรักษาในห้องฉุกเฉิน และลดอัตราการตายได้ถ้ากินยาถูกต้องเกิน 80% ตามที่แพทย์สั่ง ส่วนผลข้างเคียง มีปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่ง Harvard Medical School ระบุว่า ต้องมีการศึกษาการใช้ยานี้อย่างจริงจังในบริบทอื่นๆ ด้วย

“ยาฟาวิพิราเวียร์ต้องเข้าระบบ รพ. หากเกิดกรณีระบาดขึ้นมากๆ ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การที่มียาทางเลือกขึ้นมาช่วย ถ้ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า ก็ย่อมดีอยู่แล้ว และวงการแพทย์ในต่างประเทศก็ต้องการให้มีการศึกษาการใช้ยาเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อมาช่วยกันรักษาผู้ป่วยโควิด และศึกษายาอื่นๆ เช่น ไซโปรเฮปทาดีน และนิโคลซาไมด์ พูดง่ายๆ ว่าทีมเราไปอ่านมาแล้วเห็นว่า ไม่มีใครทำจริงๆ สักที ก็เอามาศึกษา จึงเป็นที่มาของการทำงาน" นพ.กติกากล่าวและว่า หากผลการศึกษาปรากฏว่าได้ผลดี ยาเหล่านี้อาจได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโควิดได้ในกรณีฉุกเฉิน และถูกบรรจุในแนวทางการรักษาในประเทศต่างๆ

นพ.กติกา กล่าวว่า เราอยากให้มีหลายๆ ไซต์ในต่างจังหวัดร่วมด้วย เช่น ล่าสุด มีคนไข้ในอุดรธานีติดต่อมา แต่เราไม่มี รพ.ในจังหวัดเขาที่เข้าร่วม ถ้าเรามี รพ.ในจังหวัดต่างๆ เข้าร่วม ก็สามารถกระจายยาไปไว้ที่จังหวัดนั้นได้เลย ยาก็จะส่งไปที่คนไข้ได้เร็ว และขั้นตอนจะถูกต้อง เพราะเราก็ต้องไปยื่นขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนในจังหวัดนั้นๆ และจะทำให้ขั้นตอนราบรื่น เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้น จะมีการตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารที่เป็นที่เชื่อถือในต่างประเทศ และเผยแพร่ความรู้ไปในวงการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยได้ทั่วโลก


ด้าน น.ส.ณัฐชลัยกร ศิริจำรูญวิทย์ คณะทำงานติดตามประเมินผลโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาสาสมัครที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีอายุระหว่าง 18-69 ปี ติดต่อเข้ามาภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการ โดยจะได้รับการประสานงานผ่านไลน์ออฟฟิเชียล @2565-2565 และได้รับการซักประวัติอย่างละเอียด ซึ่งเมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วจะมีแพทย์และผู้ช่วยวิจัยดูแล ซึ่งอาสาสมัครสามารถติดต่อแจ้งอาการและปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ไม่ต้องกังวลในกรณีฉุกเฉิน แต่หากอาสาสมัครรู้สึกไม่สบายใจก็สามารถถอนตัวจากโครงการได้ตลอดเวลา

“ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกรณีเข้า รพ.หรือเกิดอาการรุนแรงขึ้นเลย โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจาก รพ.ในกรุงเทพฯ เช่น รพ.ราชวิถี และ รพ.วิภาวดี ดูแลครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ขณะเดียวกัน มี รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี และ รพ.ประสาทเชียงใหม่ที่เข้าร่วมในฐานะศูนย์ศึกษาในต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้สามารถส่งยาให้ผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น แต่คณะผู้วิจัยยังต้องการความร่วมมือจาก รพ.ในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อศึกษาและดูแลอาสาสมัครในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น” น.ส.ณัฐชลัยกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น