xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์ชัด!! วิธีเสริม "ไอโอดีน" เพิ่ม "ไอคิว" ลูก ควรเริ่มเมื่อไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัยย้ำส่งเสริม "ไอโอดีน" ในเด็ก ไม่ใช่แค่กินเกลือ ต้องเน้นฝากท้องเร็ว ให้แม่ได้รับเหล็ก โฟลิก ไอโอดีน ช่วง 6 เดือนแรกไม่ต้องเสริมให้รับผ่านจากนมแม่ ส่วนหลัง 6 เดือนกินอาหารตามวัย ใช้เกลือไอโอดีนได้ไม่ถึง 1 ช้อนชา หรือ 90 ไมโครกรัมต่อวัน ทำแพลตฟอร์ม อสม.-ประชาชน ลุยทำหมู่บ้านไอโอดีน

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงกรณีการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยในแต่ละพื้นที่ให้มีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยเน้นการเสริมไอโอดีนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง เด็กควรได้รับสารไอโอดีนตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร ว่า ไอโอดีนเป็นสารที่เราไม่สามารถได้รับจากธรรมชาติ ซึ่งจริงๆ อาหารทะเลมีไอโอดีน แต่ไม่ใช่ทุกภาคของประเทศไทยที่จะได้รับอาหารทะเลได้ทุกวัน เพราะสารไอโอดีนเป็นสารที่ต้องการแต่น้อย แต่ต้องการทุกวัน จึงไปเพิ่มตัวไอโอดีนในเกลือ เพราะคนเราวันหนึ่งกินเกลือเยอะไม่ได้ แต่กินได้ทุกๆ วันเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะกินเกลือทุกครั้งจึงให้กินเกลือไอโอดีน ซึ่งประเทศไทยมีการประกาศกำหนดให้เกลือต้องเสริมไอโอดีน แค่เวลาเลือกซื้อดูฉลากที่มี อย.ก็มั่นใจว่าได้เกลือที่มีไอโอดีน


พญ.สายพิณกล่าวว่า ถามว่าเด็กต้องกินไอโอดีนตั้งแต่เริ่มเลยหรือไม่ ถ้าแม่ฝากครรภ์เร็ว แม่จะได้สารอาหารสำคัญนี้ในตัววิตามินเสริม คือ เหล็ก โฟลิก และไอโอดีน ถ้าแม่พร้อมแล้วและให้เด็กกินนมแม่ เด็กก็จะได้ไอโอดีนอยู่แล้วไม่ต้องกินเพิ่ม แต่เมื่อเด็กโตขึ้นเริ่มกินอาหารอื่นได้ ถ้ามีการปรุงอาหารที่มีการใช้เกลือ ซึ่งจริงๆ เด็กเล็กเราไม่อยากให้ปรุงแต่งรสมาก แต่ถ้าเด็กโตขึ้นก็ใช้เกลือเสริมไอโอดีน ปริมาณคือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวันก็จะได้ไอโอดีนเพียงพอ

"คนวัยทำงานต้องการไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน ถ้าเทียบกลับเข้ามาก็จะประมาณ 1 ช้อนชาต่ออัน ส่วนเด็กเล็กต้องการไอโอดีน 90 ไมโครกรัมต่อวัน ดังนั้น ก็ไม่ต้องกินเกลือถึง 1 ช้อนชาก็พอแล้ว ทุกวันนี้คนมักคิดว่าอาหารต่างๆ ที่เสริมสิ่งนั้นสิ่งนี้ดี คิดว่าได้เยอะแล้วดี ซึ่งก็ไม่จริง หากเกินความต้องการของร่างกายก็ขับออกมา และบางอย่างหากไม่ขับออกก็จะสะสมก็ไม่ดีอีก ไอโอดีนก็เช่นกัน

เมื่อถามว่ามีนโยบายให้กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตเร่งให้ความรู้ อสม.เรื่องการเสริมไอโอดีน เพื่อแนะนำชาวบ้านต่อมีแนวทางดำเนินการอย่างไร พญ.สายพิณกล่าวว่า ตอนนี้ประสานกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้ว เราสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ เป็นแนวทางให้ อสม.อย่างเต็มที่ โดยกรมอนามัยเรามีตัวแพลตฟอร์มไอโอดีน ซึ่งมีทั้งแพลตฟอร์มสำหรับประชาชนในการเข้าไปหาความรู้ว่า ไอโอดีนคืออะไร อยู่ในแหล่งไหนบ้าง จะต้องกินปริมาณเท่าไรอย่างไร และแพลตฟอร์มสำหรับเจ้าหน้าที่ จะเป็นเครื่องมือให้ อสม.ไปทำ

"เราต้องการให้ทุกชุมชนเป็นชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ซึ่งจะมีเกณฑ์ เช่น ผู้นำชุมชนต้องมีการวางแผนเรื่องการเสริมไอโอดีน มีการจัดการเรื่องเกลือในร้านค้าต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน มีระบบสุ่มตรวจและรายงานผล การเร่งให้หญิงตั้งครรภ์ไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีน ย้ำว่าเราไม่ได้เน้นกินเกลือ แต่ถ้าหยิบเกลือหรือเครื่องปรุงรสต้องได้ไอโอดีน และให้ไปฝากท้องเร็ว ก็จะได้สารอาหารเต็มที่ และถ้าเป็นเช่นนี้ทั้งหมู่บ้าน ไอโอดีนก็ไม่ต้องกังวล เพราะอยู่ในวิถีชีวิต" พญ.สายพิณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น