xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" ยัน 9 มิ.ย.นี้ ปชช.ปลูกกัญชาได้ แม้ออก พ.ร.บ.ไม่ทัน ขอจดแจ้งได้ผ่านแอปฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" ยันตั้งแต่ 9 มิ.ย. "กัญชา" ไม่ใช่ยาเสพติด ประชาชนปลูกได้ แม้ออกร่าง พ.ร.บ.กัญชาไม่ทัน อย.ทำแอปฯ "ปลูกกัญ" ให้ ปชช.ทั่วไปที่จะปลูกจดแจ้ง และขออนุญาตเชิงพาณิชย์ เริ่มบริการ 9 มิ.ย.เช่นกัน ส่วนข้อเสนอตั้งกองทุนดูแลอยู่ที่สภาพิจารณา

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมาย หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ เพราะกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป โดยปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชง ที่ปลูกภายในประเทศ ไม่ใช่ยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2%

เมื่อถามถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทยที่เสนอเข้าสภา จะออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย.นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ทันแน่นอน เป็นเหตุผลที่ สธ. ไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เพื่อบอกการใช้กัญชาทางการแพทย์ กัญชาเสรีต้องใช้อย่างไรถึงถูกต้อง เพราะฉะนั้นคนที่ใช้ผิด คือ คนที่ตั้งใจจะใช้ผิด ก็ต้องมาดูเรื่องกฎหมายสาธารณสุขมาดูแลต่อไป ย้ำว่าทำนโยบายนี้เพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์ของกัญชา ไม่ใช่ใช้ส่วนที่เป็นโทษ ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย

"ย้ำว่านโยบายกัญชาคือกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ถ้าคนบริโภคในอัตราที่เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าขาดความเข้าใจแล้วไปใช้ทางที่ผิด หวังว่าจะออกฤทธิ์ให้สุขภาพดีขึ้นไม่มีทาง มีแต่โทษ ต้องเข้าใจเรื่องนี้ เชื่อว่าทุกคนเข้าใจเพียงแต่จะทำหรือไม่ทำ" นายอนุทินกล่าว

ถามย้ำว่าหากร่าง พ.ร.บ.กัญชา ออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย. ประชาชนยังปลูกได้ถูกกฎหมายหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว ไม่ต่างจากต้นพริกขี้หนู ถ้าไม่สนใจไปเอามากินครั้งเดียวหลายๆเม็ดก็อันตรายได้ แต่ถ้าใช้เพิ่มเติมรสชาติอาหารก็เป็นประโยชน์ กัญชาก็เช่นกัน นโยบายของ สธ.คือ กัญชาเสรีทางการแพทย์ ก็อธิบายด้วยตัวมันเอง ส่วนการใช้ที่ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ และอาจจะผิดกฎหมายด้านสาธารณสุข

ถามถึงกรณีนักวิชาการเสนอให้เพิ่มกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาใน พ.ร.บ.ด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการจะพิจารณา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ผ่าน ครม. ผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี บรรจุในวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเปิดวันที่ 22 พ.ค.นี้ ก็ต้องบรรจุเข้าไปตามขั้นตอน ผ่านมือ สธ.และรัฐบาลไปแล้ว อยู่ที่การพิจารณาของสภา

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรามองกัญชากัญชงเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ การแพทย์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงจะนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ อย.ดูแลตั้งแต่การปลูก การสกัด และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งต้น พ.ค.อนุมัติผลิตภัณฑ์แล้วเกือบ 1 พันรายการ ทั้งยาสมุนไพร อาหาร เครื่องดื่ม และจะอนุมัติเพิ่มขึ้น หลักการใช้กัญชา ตามพ.ร.บ.กัญชา เพื่อส่งเสริมใช้ในการแพทย์ มีข้อกำหนดไม่ให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์หรือเด็ก และควบคุมโฆษณา ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์

“จุดยืนของพืชสมุนไพร คือเราจะมีการนำไปใช้ที่เหมาะสม โดยจะมีแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" เพื่อจดแจ้งปลูกในประชาชนทั่วไป และขออนุญาตในเชิงพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้พัฒนาเสร็จแล้ว จะเริ่มให้บริการในวันที่ 9 มิ.ย.” นพ.ไพศาลกล่าว

เมื่อถามว่าหาก พ.ร.บ.กัญชาออกมาไม่ทันวันที่ 9 มิ.ย. จะส่งผลต่อการนำไปใช้ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น เพราะประชาชนรับทราบและมี mindset เรื่องยาเสพติดกับสิ่งที่เราจะไปใช้ประโยชน์ได้ดี นึกถึงเรื่องใช้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือสินค้าที่ทำจากกัญชา กัญชงอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า ประชาชนมีความตื่นตัว แต่ย้ำว่า สารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% ยังเป็นยาเสพติดอยู่ และกำหนดชัดเจนว่ายังต้องเป็นการปลูกในประเทศ แม้แต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพก็ชัดเจนว่าต้องมาจากในประเทศ

ถามต่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มี THC สูงกว่า 0.2% หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ก่อนอนุญาตจะมีการตรวจวิเคราะห์ มีข้อกำหนดว่าต้องมีปริมาณเท่าไรต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถามว่าถ้าเกิน 0.2% จะนำไปใช้จะต้องขออนุญาต เช่น ยาสูตรเข้ากัญชาต่างๆ อย่างสูตรเมตตาโอสถของกรมแพทย์แผนไทยฯ มี THC สูงมาก แต่เป็นการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง

เมื่อถามถึงข้อเสนอตั้งกองทุนดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชา นพ.ไพศาลกล่าวว่า เสนอมาได้ อย.ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ แต่รับฟังทุกข้อเสนอ ทั้งนี้ พ.ร.บ.กัญชาไม่ใช่ของเดิมที่นำมาทำใหม่ หากจะต้องตั้งเป็นกองทุนก็ต้องไปดูว่าอยู่ในกฎหมายใด หรืออาจจะนำไปเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. ที่กำลังพิจารณาในสภา

ถามว่าจะควบคุมโฆษณาอย่างไร เพราะมีโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างมาก นพ.ไพศาล กล่าวว่า มีการควบคุมการโฆษณาตาม พ.ร.บ.ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งยา อาหาร และสมุนไพร จะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน แต่เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนโฆษณา แต่ต้องไม่โอ้อวดเกินจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น