ศบค.ย้ำแม้ สธ.ลดเตือนภัย "โควิด" เป็นระดับ 3 แต่ยังต้องเฝ้าระวัง ชี้หลายพื้นที่ติดเชื้อเพราะผ่อนคลายมากเกินไป หรือย่อหย่อนมาตรการ แจงมาตรการผ่อนคลาย ยังไม่ได้เปิดผับบาร์ เลิกสวมหน้ากากแบบต่างประเทศ เพราะต้องปรับมาตรการให้สอดคล้องกับประเทศไทย หวั่นอีสานยังตายสูง เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สัปดาห์นี้จะมีหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาสังคม มีข้อมูลเสนอ ศบค.ชุดเล็ก เพื่อเสนอ ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 20 พ.ค. ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศลดระดับเตือภัยจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 พิจารณาให้สอดคล้องสถานการณ์ติดเชื้อทั่วโลกและบ้านเรา ทั้งผู้ติดเชื้อ ปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจที่มีแนวโน้มลดลงทั่วประเทศ ซึ่งระดับ 3 ยังต้องเฝ้าระวังสูง จำกัดรวมกลุ่ม ยังไม่ถึงขั้นผ่อนคลายใช้ชีวิตตามปกติ จะเห็นหลายพื้นที่ติดเชื้อประปรายหรือเป็นกลุ่มก้อน ที่อาจผ่อนคลายเร็วเกินไป หรือลดหย่อยมาตรการไม่สวมหน้ากาก
การติดเชื้อวันนี้ตัวเลข 8,019 ราย ด้วยการตรวจ RT-PCR ปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตทิศทางลดลงต่อเนื่อง สำหรับเสียชีวิต 59 ราย พบว่า 100% เป็นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง กลุ่ม 608 โดย 41 รายไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือ 70% ทำให้เสี่ยงเสียชีวิต และมี 3 รายเพิ่งได้เพียงเข็มแรก มีอีก 15 รายรับเข็มสองแต่นานเกิน 3 เดือนไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ติดเชื้ออาการหนักถึงเสียชีวิต โดยพบว่ามาจากอีสาน 21 ราย ต้องรณรงค์การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม
การนำต่างประเทศมาเปรียบเทียบว่ามีการเปิดร้านอาหาร ผับบาร์ต่างๆ ไม่สวมหน้ากากอนามัย เราต้องยึดตามประกาศ ศบค.และรายงานของ สธ. เพราะประเทศเหล่านี้แม้จะมีการผ่อนคลาย แต่ตัวเลขการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูงอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา สูง 83.9 ล้านราย ติดเชื้อสูงก็เสียชีวิตสูง ซึ่งเสียชีวิตแล้ว 1 ล้านราย เราติดตามสถานการณ์โลกได้ แต่ต้องปรับมาตรการให้สอดคล้องกับบ้านเรา คนไทยที่เดินทางไปหลายประเทศยึดมาตรการสาธารณสุขไทยเป็นหลัก ที่ไปอเมริกา ยุโรป เห็นว่าประเทศเหล่านั้นไม่สวมหน้ากากอนามัย ก็ลดการ์ดด้วยพอกลับมาก็มีการติดเชื้อ
สำหรับจังหวัดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 2,747 ราย 2.ร้อยเอ็ด 253 ราย 3.ชลบุรี 248 ราย 4.บุรีรัมย์ 229 ราย 5.สมุทรปราการ 195 ราย 6.นครราชสีมา 189 ราย 7.มหาสารคาม 177 ราย 8.อุบลราชธานี 168 ราย 9.ขอนแก่น 147 ราย และ 10.สุรินทร์ 140 ราย ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุด แต่อัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ยังไม่น่าเป็นห่วง รองรับการเจ็บป่วยได้ ทั้งนี้ หากมีประวัติเสี่ยงสูง มีคนใกล้ชิดติดเชื้อ ยิ่งเป็นสูงอายุและมีโรประจำตัว ให้เร่งตรวจและเข้าระบบการรักษาโดยเร็ว ซึ่ง 59 รายที่เสียชีวิต มี 3 รายที่เสียชีวิตวันที่ตรวจพบเชื้อ อาจไม่ได้ตระหนักว่ารับเชื้อและมีอาการุนแรงเมื่อไปถึง รพ.ก็เสียชีวิต โดยบุคลากรไม่สามารถช่วยได้ และ 9 ราย เสียชีวิตหลังตรวจพบการติดเชื้อ 3 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดที่ติดเชื้อมากกว่า 100 รายมีอีก 9 จังหวัด ส่วนติดเชื้อต่ำกว่า 100 รายมี 57 จังหวัด จำนวนนี้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 รายมี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง 9 ราย , แพร่ 9 ราย , ยะลา 9 ราย , อุตรดิตถ์ 9 ราย , ปัตตานี 8 ราย , สตูล 7 ราย , นราธิวาส 4 ราย , พังงา 3 ราย และลำพูน 2 ราย ส่วนไม่มีรายงานติดเชื้อหรือเป็น 0 คือ ลำปาง