เสนอเร่งขับเคลื่อนจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ ถกบริหารจัดการทางการคลังให้เพียงพอและยั่งยืน ห่วงผู้สูงอายุไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจน ไร้เงินออม รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ เสนอปรับรูปแบบจัดเก็บภาษีเพื่อสังคมสูงวัย ลดเหลื่อมล้ำ เฉลี่ยสุข-ทุกข์
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ ได้มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “การขับเคลื่อนในการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ และพัฒนาการบริหารจัดการทางการคลังของระบบบำนาญแห่งชาติให้มีความเพียงพอและยั่งยืน” ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และข้อค้นพบจากงานวิจัยให้เกิดการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ ตลอดจนเปิดพื้นที่สร้างสรรค์แลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็น สร้างความตระหนักและความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต มีตัวแทนผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนจากพรรคการเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านผู้สูงอายุ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ข้อมูลการคาดประมาณประชากรจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (complete aged society) ภายในปี 2565 คือ ประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสามของประชากร อีกภายใน 20 ปี ซึ่งผู้สูงอายุมีอัตราความยากจนสูงกว่ากลุ่มประชากรอื่น ปัจจุบันผู้สูงอายุมีเบี้ยยังชีพ เป็นฐานของการคุ้มครองทางสังคม ข้อมูลจากผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้สำรวจผลกระทบจากการใช้มาตรการปิดเมืองต่อสภาพความเป็นอยู่และการเข้าถึงบริการ เฉพาะของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเมืองของจังหวัดอื่น และเขตชนบท จำนวนทั้งสิ้น 808 ราย ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2563 พบว่า ร้อยละ 99.3 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ได้รับและพึ่งพารายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และร้อยละ 65.2 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ไม่มีการออม โดยที่เบี้ยยังชีพอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปทั้งนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะมีผลอย่างมากต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ ทั้งผลกระทบต่อรายได้ของผู้สูงอายุและลูกหลาน เมื่อพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระบบบำนาญจึงถือเป็นระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุในการช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนลงได้
ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นความคุ้มครองทางสังคมประเภทหนึ่ง โดยการพิจารณาเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในอันดับต้นของโลก ทั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ งบประมาณรายจ่ายด้านบำนาญผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยงบประมาณส่วนมากเป็นบำนาญข้าราชการ ดังนั้น ระบบบำนาญแห่งชาติ ควรจะกำหนดเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุยากจนและผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พึง ควรมีรายได้ยามชราภาพเพียงพอต่อการยังชีพ ช่วยป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำในช่วงวัยเรียนและวัยทำงานส่งผลให้กลายเป็นความยากจนเมื่อวัยชรา โดยเป็นระบบที่มีความยั่งยืนทางการคลัง และต้องคำนึงถึงมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
ดร. ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุลจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” พบว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจของประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี ซึ่งเป็น "ประชากรรุ่นเกิดล้าน" หรือกลุ่มสึนามิประชากร มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง เพราะส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม เมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ แม้จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ก็ยังคิดเป็นงบประมาณที่น้อยกว่าระบบบำนาญของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระยะยาว
ดร. ทีปกร กล่าวว่า การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปได้ถึงระดับกึ่งกลางหรือมัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาทต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อวัน โดยให้ผู้ทำงานอยู่นอกระบบสามารถทำการออม และให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้ โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอดังนี้ 1.ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน 2.มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ และสามารถคุ้มครองความยากจน จากเส้นความยากจนในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น แก้ไข พรบ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็น "พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2546” พร้อมทั้งแก้ไขให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และสามารถมีแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) เป็นต้น 3. สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน 4. ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม และ 5.เสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ
“จะต้องสร้างการขับเคลื่อนในลักษณะของ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และ ภาคนโยบาย ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง เหมือนที่ประเทศไทยเคยใช้ยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” จนสามารถสร้างระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้สำเร็จ โดยควรสื่อสารให้ชัดว่า “สิ่งที่จะได้มา (บำนาญผู้สูงอายุ) มีมากกว่าสิ่งที่จะเสียไป (ภาษี)” และ ควรเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีวิวาทะ (dialogue) รวมถึงใช้กลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) และการสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อชักชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์”ดร. ทีปกร กล่าว
ดร. ทีปกร กล่าวอีกว่า การผลักดันนโยบายต่าง ๆ อาศัยเจตจำนงทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งข้าราชการที่มีหน้าที่ถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติล้วนมีข้อมูลและความพร้อม อาศัยเพียงความตั้งใจของผู้มีอำนาจที่จะผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติให้ถ่ายทอดลงมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากผู้มีอำนาจมีความตั้งใจจริง ย่อมได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน และเป็นแนวทางเพื่อให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ อันสอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้ศึกษาวิจัยและเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่ 10-15 ปีที่แล้ว หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยสามารถมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในระดับโลก ดังนั้น หลังวิกฤต COVID-19 ประเทศไทยควรจะมี การจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ และพัฒนาการบริหารจัดการทางการคลังของระบบบำนาญแห่งชาติให้มีความเพียงพอและยั่งยืน
(ข่าวประชาสัมพันธ์)