คกก.โรคติดต่อเห็นชอบยุทธศาสตร์กำจัดโรคตับอักเสบในปี 2573 เตรียมฉีดวัคซีนให้ชาวไทยมุสลิมไปแสวงบุญฮัจญ์ ทั้งไข้กาฬหลังแอ่น-ไข้หวัดใหญ่ฟรี 17 พ.ค. - 30 มิ.ย. พร้อมออกใบรับรองฟรี เร่งอบรมเจ้าหน้าที่ด่านน้ำประเมินสุขาภิบาลทางเรือและออกใบรับรอง เตรียมรับต่างชาติเข้าไทยทางทะเล
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 ว่า วันนี้มีประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.เห็นชอบยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 - 2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 – 2567 ซึ่งประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี 2.2 ล้านคน และตับอักเสบซี 3.6 แสนคน เป็นสาเหตุของตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งคนไทยป่วยมะเร็งตับมากกว่ามะเร็งอื่น พบมากในเพศชาย จึงต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา กำหนดทิศทางและนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผน มีตั้งเป้ากำจัดให้ได้ภายในปี 2573
2.เห็นชอบป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้โควตาชาวไทยมุสลิม 5,885 คน กรมควบคุมโรคจึงจัดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ วันที่ 30 พ.ค.นี้ ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กทม. มีการตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง ฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น และไข้หวัดใหญ่ ยกเว้นค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. - 30 มิ.ย. 2565 ออกเอกสารรับรองการให้วัคซีน(เล่มเหลือง) ยกเว้นค่าใช้จ่าย และออกหนังสือรับรองวัคซีนโควิด 19 รวมถึงสนับสนุนกระเป๋ายาและเวชภัณฑ์ จัดทีมแพทย์ไปร่วมดูแลอย่างเพียงพอ
3.รับทราบการทบทวนการรับมือภาวะฉุกเฉินโรคโควิด UHPR ขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยจะนำเสนอประสบการณ์รับมือโควิด 19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ ปลาย พ.ค.นี้
และ 4.รับทราบการพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะเรือ และการออกเอกสารรับรอง Ship Sanitation Certificate : SSC ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น การเดินทางระหว่างประเทศทางเรือกำลังเพิ่มขึ้น ไทยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่มีชาวต่างชาติมาเยือนทางเรือ การตรวจสุขาภิบาลเรือและออกเอกสารรับรองสุขาภิบาลจึงมีความสำคัญ ภายใต้มาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005)
"เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ (ท่าเรือ) กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเรื่องการตรวจสุขาภิบาลเรือ และการออกใบรับรองสุขาภิบาลเรือ ที่จัดขึ้นวันที่ 9 -13 พ.ค.นี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ ให้มีศักยภาพประเมินความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลในเรือให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล" นายอนุทินกล่าว