สธ.เผย "ไอคิว" เด็กไทยชั้น ป.1 ปี 2564 ทะลุ 100 จุด เป็นปีแรก เฉลี่ย 102.8 เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อน พื้นที่สีแดงไอคิวต่ำลดลงฮวบ พบ กทม.ไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 112.6 ยะลาต่ำสุด 93.4 ไม่ได้สำรวจอีก 8 จังหวัด เกณฑ์ฉลาดมากเกิน 130 พบถึง 10.4% บกพร่อง 4.2% สูงกว่ามาตรฐาน ตั้งขณะที่อีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% "อนุทิน" เผยมาทำงาน สธ.ช่วยไอคิวสูงขึ้น ย้ำรวยไม่ได้ฉลาดกว่า แต่มีโอกาสกว่า
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวผลการสำรวจไอคิว อีคิวเด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี 2564 นอกจากนี้ นายอนุทินยังมอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่บุคคลและหน่วยงานที่ร่วมดำเนินงานพัฒนาเด็กไทยและพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยดีเด่น รวม 10 ประเภท จำนวน 18 รางวัล
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ พบว่า ระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ยเกิน 100 แล้วเป็นครั้งแรก คือ 102.8 อยู่ในเกณฑ์ปกติ และผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100 ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสูงขึ้นกว่าการสำรวจเมื่อปี 2559 ถึง 4.5 จุด โดยอยู่เกณฑ์ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 สูงถึง 10.4% ส่วนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือต่ำกว่า 90 จาก 31.8% ลดลงเหลือ 1 ใน 3 คือ 21.7% สะท้อนถึงความสำเร็จที่ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาเด็กไทย แต่ยังพบอยู่ในเกณฑ์บกพร่อไอคิวงต่ำกว่า 70 อยู่ 4.2% สูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกิน 2% สะท้อนว่า ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสติปัญญาในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี พบในกลุ่มขาดโอกาสทางสังคม เช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มเด็กที่เกิดจากมารดาวัยรุ่น ครอบครัวขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กขณะที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น
ส่วนผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) อยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% แสดงว่าเด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและความสุขในอนาคต
"แม้แนวโน้มจะดีขึ้น หรือหากทำให้ไอคิวต่ำกว่าปกติเหลือ 1% ก็ยังถือว่าเยอะ ต้องทำให้เด็กไทยมีไอคิวที่เป็นพื้นฐาน คือ เกิน 100 จะทำให้การพัฒนามีประสิทธิภาพและเด็กโตมาพัฒนาบ้านเมืองต่อไป สำหรับการมีระดับสติปัญญาที่ดี ต้องเริ่มมาจากการฝากครรภ์คุณภาพ มีโภชนาการที่ดีเพียงพอ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนสารไอโอดีนในเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากขึ้น ลดการเป็นโรคเอ๋อ จึงขอให้กรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยเพิ่มเรื่องความรอบรู้ด้านไอโอดีนให้แก่ อสม.ที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านในช่วงโควิด เพื่ออธิบายต่อกับชาวบ้านถึงความสำคัญให้เด็กบริโภครับสารไอโอดีนเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับครอบครัวที่มีความพร้อม เด็กจะเข้าถึงเกณฑ์ไอคิวมาตรฐานมากกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเข้าถึงอาหาร คุณภาพชีวิต การเจริญเติบโต แต่ไม่ได้แปลว่ามีเงินหรือรวยแล้วจะได้เปรียบมีความฉลาดกว่า แต่อยู่ที่การฟูมฟักเลี้ยงดูของผู้ปกครองและผู้ที่มีหน้าที่กำหนดเรื่องนโยบาย ซึ่งการให้เด็กได้รับสารไอโอดีนที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เข้าใจการดำรงชีวิตที่ดี ก็อยู่ในภารกิจของ สธ.ที่จะดำเนินการเพื่อให้เด็กมีระดับสติปัญญาที่สูงขึ้น ต้องหาวิธีการลดเหลื่อมล้ำทางฐานะ ให้สังคมมีสุขภาพที่ดี พ่อแม่มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดี เอาใจใส่ดูแลเยาวชน ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เช่น ศธ. พม. มท.และ สธ.ให้การดูแลพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
"ผมไอคิวคงต่ำกว่าร้อย แต่อาศัยมาทำงานอยู่ สธ. จึงเพิ่มไอคิวมาเล็กน้อย ตอนนี้สามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆได้ วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆได้ อยู่ สธ. รู้สึกฉลาดขึ้นมาเยอะ คิดได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญไอคิวอย่างเดียวไม่พอ เก่งแค่นั้นหน้าดำคร่ำเครียดจะไปไอซียูได้ อาจเจอโรคอื่นๆ เครียด ความดันสูง จึงต้องมีอีคิวด้วย มีสภาพอารมณ์ สภาพจิตใจที่ดี สธ.มองทุกอย่างเป็นส่วนรวมก็จะฟันฝ่าอุปสรรคได้ สธ.ผ่านเหตุการณ์มาไม่รู้เท่าไหร่ โดยเฉพาะวิกฤตโรคระบาด ตั้งสติร่วมมือกันทำงานก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง" นายอนุทิน กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจไอคิวเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจเมื่อปี 2559 พบว่า เด็กระดับชั้นป.1 มีระดับไอคิวเฉลี่ย 98.2 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ยังระดับต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นค่ากลางมาตรฐานสากล แต่ในปี 2564 มีค่าเฉลี่ยเกินระดับ 100 แล้ว ถือเป็นทิศทางที่ดี โดยตั้งเป้าที่พัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570 สำหรับผลการสำรวจในปี 2564 จะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมไอคิวและอีคิวเด็กไทยในแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์คือ เด็กไทยมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป
ด้าน พญ.หญิงอัมพร กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้มีข้อมูลรายจังหวัดสำหรับ 61 จังหวัด ซึ่งได้แจ้งพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนอีก 16 จังหวัดยังขาดความครบถ้วน เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ แม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน แต่เด็กไทยยังมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4% ทั้งนี้ สธ.จะพัฒนาและค้นคว้าแนวทางส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครอบครัวที่ขาดโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กให้พร้อมมุ่งสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาการที่สมวัยทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลสำรวจระดับไอคิวเด็ก ป.1 ประจำปี 2564 พบว่า ค่าไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 102.8 ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน 100 แต่ยังพบต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือไอคิวต่ำกว่า 90 ประมาณ 21.7% ซึ่งไม่ควรเกิน 25% และอยู่ในเกณฑ์บกพร่องหรือไอคิวต่ำกว่า 70 ประมาณ 4.2% ซึ่งไม่ควรเกิน 2.2% สำหรับจังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 มีจำนวน 36 จังหวัด คิดเป็น 47% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่พบ 12 จังหวัด คิดเป็น 16% โดย กทม.มีไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 112.6 ตามด้วยหนองคาย 109.4 , ปราจีนบุรี 108.3 , อุตรดิตถ์ 108.2 , นนทบุรี 108.2 และจันทบุรี 108.2 ส่วนที่มีไอคิวเฉลี่ยต่ำสุด คือ ยะลา 93.4 อย่างไรก็ตาม มีจำนวน 8 จังหวัดที่ไม่สามารถลงพื้นที่สำรวจได้ และไม่ได้วัดค่าไอคิวเฉลี่ย ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ตรัง และพัทลุง
เมื่อถามถึงไอคิวเฉลี่ยทะลุ 100 เป็นครั้งแรก นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เห็นว่า คนไทยไม่ได้มีความฉลาดน้อยกว่าคนในประเทศอื่นในโลกเลย ถ้าเราสามารถหาวิธีการที่จะทำให้เด็กเพิ่มความฉลาดได้ ซึ่งพูดเต็มปากว่าได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกรมสมเด็จกระเทพฯ ในการส่งเสริมการใช้เกลือไอโอดีน ทั้งนี้ การสำรวจจะดำเนินทุก 5 ปี ตั้งเป้าให้เด็กมีไอคิวมาตรฐานได้เป็นขั้นพื้ฐาน ส่วนข้อมูลระดับพื้นที่จังหวัดพบว่า เมื่อ 5 ปีก่อนแดงเถือก วันนี้เห็นสีชมพู 3-4 จังหวัด ก็จะเน้นตรงนั้น ที่เป็นสีเขียวก็ให้เข้มขึ้น