xs
xsm
sm
md
lg

แฉกลโกงแอปฯ กู้เงิน ยัดหนี้-โอนเงินไม่ครบ-ดอกโหดสูง 60%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จับมือภาคีเครือข่ายจัดสัมมนา “รู้ทันภัยคุกคามการเงินออนไลน์” เผยกลโกงแอปฯ กู้เงิน ยัดหนี้-โอนเงินไม่ครบ-ดอกโหด สูงถึง 60% แนะหยุดกลัว-หยุดจ่าย-หยุดกู้เพิ่ม

วิภาพร แซ่ผู่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีแอปพลิชันกู้เงินออนไลน์ พบว่า 1. พบแอปพลิเคชันเงินกู้ทั้งหมด 109 แอปพลิเคชัน เป็นแอปพลิเคชัน ผิดกฎหมายถึง 93 แอปพลิเคชัน 2. มีพฤติการณ์จ่ายเงินไม่เต็มจำนวน คิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง บางรายสูงถึง 60% โดยผู้กู้ส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลส่วนนี้ 3. ระยะเวลาในการชำระเงินกู้ก็ไม่ตรงตามที่ได้ตกลงกัน เช่น กำหนดระยะเวลาคืนเงิน 15 วัน แต่หลังจากได้รับโอนมีการแจ้งว่าต้องชำระคืนภายใน 7 วัน 4. หลอกให้ผู้กู้โอนเงินจำนวนหนึ่งให้ก่อน เพื่อแลกกับการจะได้เงินกู้ แต่หลังจากผู้กู้โอนเงินให้แล้วทางผู้กู้จะปิดกั้นทุกช่องทางในการติดต่อกลับ และ 5. การยัดเยียดหนี้ มีการโอนเงินเข้าไปยังบัญชีโดยไม่ได้ร้องขอ เมื่อผู้ได้รับโอนปฏิเสธ ก็จะถูกบีบบังคับ และให้ชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลอุบายของแอปพลิชันเงินกู้ ที่ทำให้ประชาชนหลงกลเข้าไปกู้จนทำให้กลายเป็นหนี้ในที่สุด


ผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้รายหนึ่ง กล่าวว่า ในปี 2562 ได้มองหาแหล่งเงินกู้เพื่อทำธุรกิจ จึงค้นหาในอินเทอร์เน็ต พบโฆษณาการกู้เงินผ่านแอปพลิชัน ที่สะดวกง่าย รวดเร็ว แต่พอตนกู้จริง กลับไม่ได้รับจำนวนเงินที่ตกลงกันเอาไว้ ทั้งที่ยอดอนุมัติจำนวนเงิน 2,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงแค่ 1,300 โดยผู้ให้กู้แจ้งว่าเป็นการหักดอกเบี้ย และค่าดำเนินการ และหลังจากได้รับโอนเงินแล้ว ซึ่งหลังจากมีการโอนเงินแล้ว ทางผู้ให้กู้เร่งรัดให้คืนภายใน 7 วัน แต่หากจะขยายเวลาการชำระเงิน จะต้องเสียค่าบริการเพิ่มอีก ทำให้เงินต้นกับดอกเบี้ยพอกพูนเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนได้ สิ่งที่อยากแนะนำผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ คือ หนึ่ง ต้องหยุดกลัว สอง ต้องหยุดจ่าย และสาม ต้องหยุดกู้เพิ่ม


นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ภัยคุกคามออนไลน์จำพวกเว็บพนัน แอปพลิเคชันเงินกู้ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะส่วนใหญ่มีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มีการซื้อขายหรือถ่ายโอนฐานข้อมูลของเหยื่อให้แก่กันและกัน และบางส่วนมีการทำงานเป็นกระบวนการ เช่น เว็บพนันหลอกเงินจากนักพนัน จนทำให้เกิดการติดหนี้สิน จากนั้นแอปพลิเคชันเงินกู้ ก็จะแสดงตนขึ้นมา เพื่อเสนอตัวเป็นทางออกในการปลดหนี้สิน ถือเป็นดาบสองที่ซ้ำเติมลงไปบนความเดือดร้อนของผู้คน ทางป้องกันที่ดีคือการรู้เท่าทัน เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงของเครือข่ายการพนัน ที่ระบาดในสังคมอยู่ในขณะนี้

“หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อของวงจร ของแอปพลิเคชันเงินกู้ สามารถป้องกันได้โดยต้องระมัดระวังสมบัติ 4 อย่างให้กับแอปพลิเคชันที่จะนำไปดำเนินการ ได้แก่ 1.เลขที่บัตรประชาชน รวมถึงภาพหน้าบัตร เพราะคือหลักฐานยืนยันตัวตนตามกฎหมาย 2.เบอร์โทรศัพท์มือถือและรหัส OTP เพราะสามารถโดนเข้าถึงข้อมูล เบอร์โทรของคนในครอบครัว และคนอื่น ๆ ที่เราติดต่อด้วย 3.อีเมลแอดเดรส อาจถูกล้วงเข้าไปถึงสังคมออนไลน์ส่วนตัว เจาะไปถึงแฟ้มภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และเครือข่ายทางสังคมในโซเชียลมีเดีย และ 4.เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต อาจถูกนำไปใช้จนทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ หากชุมชนหรือสถานประกอบการใด ต้องการสื่อความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถติดต่อมาได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน” นายธนากร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น