xs
xsm
sm
md
lg

"สูงวัย" หกล้มปีละกว่า 3 ล้านคน แนะเดินวันละ 5 พันก้าว กล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันหน้าคะมำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบ "สูงวัย" หกล้มปีละกว่า 3 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง 60% สะดุด ลื่นพื้นระนาบ 5% ตกจากบันได มีตั้งแต่เจ็บเล็กน้อย ยันสาหัสถึงตาย เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ทั้งร่างกาย พฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และจิตใจ เร่งประกาศนโยบายสูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม เน้นเดินให้ได้วันละ 5 พันก้าว ป้องกันหกล้ม เพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นพ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังประกาศนโยบายผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม ว่า ทุกๆ ปี ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือมากกว่า 3 ล้านคนพลัดตกหกล้ม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุหญิงมีการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มสูงกว่าผู้สูงอายุชาย 1.6 เท่า โดยร้อยละ 60 พลัดตกหกล้มจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน มีเพียงร้อยละ 5 ที่ตกหรือล้มจากขั้นบันได สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1. ด้านร่างกาย ทั้งการมองเห็น การเดิน การทรงตัว และโรคประจำตัว 2. ด้านพฤติกรรม คือ ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นลื่นต่างระดับ บันไดไม่มีราวจับ และ 4. ด้านจิตใจ ขาดความมั่นใจในการเดิน

นพ.มณเฑียรกล่าวว่า การบาดเจ็บภายหลังการพลัดตกหกล้ม มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ฟกช้ำ แผลถลอก กระดูกหัก จนถึงขั้นรุนแรงและเสียชีวิตได้ การป้องกันที่สำคัญ คือ ควรออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง เพื่อช่วยการทรงตัว รวมทั้งควรประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ปัจจัย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติหกล้มมาก่อน ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล กรมกิจการผู้สูงอายุ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุด้วยการประกาศนโยบาย “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม”

"การดำเนินการจะเน้นให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยการเดินให้ได้อย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทรงตัวดีขึ้น และหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้น วันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป" นพ.มณเฑียรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น