สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เปิดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง 6 หน่วยงาน โดยมีปลัด พม. และผู้อำนวยการ วช. กล่าวความเป็นมาของโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” ร่วมด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การตอนรับ
วันนี้ (28 เม.ย.) ณ อาคารสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมจัดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง 6 หน่วยงาน โดยมี
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวความเป็นมาของโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การกล่าวตอนรับ ณ อาคารสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในความร่วมมือของโครงการ “เกษียณมีดี พลังเกษียณสร้างชาติ ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย และระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่ สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน” ดำเนินการโดย วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจครั้งนี้ เป็นการร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงานอันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่), กรมกิจการเด็กและเยาวชน (คุณจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน), กรมกิจการผู้สูงอายุ (คุณสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ), เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย (พระครูปิยวรรณพิพัฒน์, ดร. ประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย), เครือข่าย YEN-Dx พี่สอนน้องคล่องธุรกิจ (คุณกิตติ์รเมศ อธิกรธีรพัฒน์ ประธาน YEN-D Frontier Thailand-Laos ผู้แทนเครือข่าย YEN-Dx)
ด้านปลัดกระทรวง พม. นางพัชรี อาระยะกุล ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ในการร่วมดำเนินโครงการ “เกษียณมีดี” ที่ผ่านมานั้น กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย และระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือขับเคลื่อนและดำเนินงานต่อยอด ส่งเสริมสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยอาศัยการบูรณาการและร่วมมือกันขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการภายใต้โครงการ "ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัล สำหรับผู้สูงวัย และสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน" ดำเนินการโดย วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วช. มุ่งหวังให้ความร่วมมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับการขับเคลื่อนภายใต้แผนงาน Quick Wins เรื่อง "เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง" ในระยะที่ 1 ซึ่งพร้อมก้าวเข้าสู่ในระยะที่ 2 นี้
สามารถนําไปสู่การขับเคลื่อนและขยายผลในระยะต่อ ๆ รวมทั้งเครือข่ายประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนผู้สูงวัยหรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ให้สามารถพึ่งพาตนเองในเชิงการประกอบอาชีพในโลกปัจจุบันได้ก่อให้เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนต่างวัยผู้สูงวัยบนสื่อสังคมออนไลน์ ผ่าน “ชุมชนคนมีดี” และ" ตลาดคนมีดี" เกิดตัวแทนผู้สูงอายุในชุมชนตนเองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกระทรวง อว. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งสู่การพัฒนาทักษะเทคโนโลยีการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ให้สามารถต่อสู้กับความยากจน และสามารถดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ เพื่อเป็นกําลังขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง โครงการ “เกษียณมีดี” ที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า มช. ได้ดำเนินการจัดทำบทเรียนดิจิทัล “เกษียณมีดี” สำหรับผู้สูงวัย พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนต่างวัย “ชุมชนคนมีดี” และ พื้นที่ปฏิบัติการฝึกเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ “ตลาดคนมีดี” การดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการได้ก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย พร้อมระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน พร้อมด้วยระบบสนับสนุนและพื้นที่ค้าขายสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการในออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส รวมทั้งเครือข่ายประสานงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนผู้สูงวัยหรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ให้สามารถพึ่งพาตนเองในเชิงการประกอบอาชีพในโลกปัจจุบันได้
นอกจากนี้ยังได้มีการตอบข้อซักถามเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง 6 หน่วยงาน แก่สื่อมวลชน และมีการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับพลังต่างวัยสร้างชาติ” ที่มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้ข้อมูลทิศทางในการดำเนินงานความร่วมมือต่อไป โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แถลงถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการพลังเกษียณสร้างชาติฯ รวมทั้งแผนการขับเคลื่อนในอนาคตว่า โครงการได้ทำการรับสมัครผู้เข้าร่วมผ่านเครือข่ายของโรงเรียนผู้สูงอายุและกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศ “มีดี” โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดของระบบนิเวศการเรียนรู้ “มีดี” ที่เป็นผู้สูงวัย (อายุ 55 ปีขึ้นไป) จำนวนมากกว่า 11,000 คน และเป็นผู้เข้าร่วมทุกช่วงวัยรวมทั้งสิ้นกว่า 18,000 คน ความสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการนี้ ส่วนหนึ่งคือการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น (Multi-Sector Collaboration) โดยได้จับมือกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ เอกชนและชุมชนที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในทุกภูมิภาคที่ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะสำหรับผู้สูงวัยในการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการรับรู้และเข้าสู่ระบบนิเวศ “มีดี”
โดยจากการดำเนินงานพบว่า องค์กรเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของโครงการ ที่จะสามารถนำเอาระบบการสนับสนุนหรือหลักสูตรออนไลน์ที่ได้พัฒนาจากโครงการนี้ไปใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศ และเป็นผู้ที่ช่วยอนุเคราะห์สื่อสารประชาสัมพันธ์พร้อมทั้งประสานงานกิจกรรมของโครงการความสำเร็จจากการดำเนินงานโครงการในปีที่ 1 ที่ผ่านมาถือเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานอันมั่นคงสำหรับการขยายผลระบบนิเวศการเรียนรู้ “มีดี” ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในระดับประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายเดิมให้สามารถขับเคลื่อนการสนับสนุนและพึ่งตนเองได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยแบบยั่งยืน