สธ.-มท.ลงนามร่วมมือกำจัดตับอักเสบ ลุยค้นหา-คัดกรอง ส่งต่อ รพ. หวังตรวจเร็ว รักษาเร็ว ชี้ตับอักเสบบีมีเกือบ 2.2 ล้านคน 90% หายขาดได้ อีก 10% เสี่ยงเรื้อรัง แนะตรวจภูมิรับวัคซีนป้องกันได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกิดก่อนปี 2535 ส่วนตับอักเสบซีน่ากลัวกว่า 90% ไม่หายขาด แต่มียารักษาพบมากในอีสาน
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ ระหว่าง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.)
นายอนุทิน กล่าวว่า โรคตับอักเสบเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชน มีโอกาสเสียชีวิตสูง สธ.ตั้งเป้ากำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทยให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชนในพื้นที่ การลงนามครั้งนี้ สธ.และ มท.จะประสานความร่วมมือทั้งด้านนโยบายและปฏิบัติงาน ระดมทรัพยากร ทั้งบุคลากรและงบประมาณท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด สร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพ วิธีการป้องกัน ดูแลรักษาและควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบ เพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ยา และการรักษา โดย มท.จะช่วยค้นหา คัดกรอง กลุ่มเสี่ยงและส่งเข้าระบบการรักษาในสถานพยาบาลเพื่อดูแลต่อไป
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง 2.2 ล้านคน ไวรัสตับอักเสบซี 8 แสนคน ซึ่งไวรัสตับอักเสบจะให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับ ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิต กรมควบคุมโรคจะสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ และพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างเหมาะสม ลดโอกาสเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เพื่อลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่การรักษาอย่างทันท่วงที ที่ผ่านมามีการทำโครงการนำร่อง 44 พื้นที่ 20 จังหวัดได้ผลดี การลงนามครั้งนี้ก็จะขยายการดำเนินการไปทั่วประเทศ เพื่อบรรจุเป้าหมายลดการป่วยจากไวรัสตับอักเสบบีต่ำกว่า 95% จากตับอักเสบซีน้อยกว่า 80% และลดโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสทั้ง 2 ตัว น้อยกว่า 65%
ด้านนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ มท.กำลังเร่งดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย ซึ่งจากการประชุมหารือกันพบว่า การที่ประชาชนมีเชื้อไวรัสตับอักเสบนั้นจะทำให้เป็นโรคตับแข็ง และพัฒนาเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งการมีปัญหาสุขภาพเช่นนี้ โดยเฉพาะกับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำมาหากินไม่ได้ ก็จะมีปัญหาความยากจนตามมา ดังนั้น การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนได้ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมให้การสนับสนุนทุกมิติ เช่น ตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อ ส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในด้านสาธารณสุข เพื่อร่วมกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบในท้องถิ่น
พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผอ.กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวว่า การลดผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี คือ คัดกรองและรักษาให้เร็ว โดยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากคนเกิดหลังปี 2535 จะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในชุดสิทธิประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว ดังนั้น กลุ่มที่เกิดก่อนปี 2535 จึงควรไปตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ และสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ ทั้งนี้ โรคดังกล่าวยังสามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างสามีภรรยา หากคนใดคนหนึ่งมีเชื้อจะถ่ายทอดต่อกัน และยังถ่ายทอดไปลูกได้ แต่ปัจจุบันมีวัคซีนให้เด็กแล้ว
“กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีปัจจุบันมี 2.2 ล้านคน ยังไม่มียารักษา แต่มียาช่วยไม่ให้ตับถูกทำลาย ทางที่ดีที่สุดต้องคัดกรองให้เร็ว และหากกลุ่มไหนฉีดวัคซีนได้ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกัน ส่วนไวรัสตับตับอักเสบซีมีประมาณ 3 แสน - 7 แสนคน ตัวเลขไม่ชัดเจน กลุ่มนี้มียารักษาหายขาดได้ กิน 12 สัปดาห์ ซึ่งต้องตรวจคัดกรองให้เร็วเช่นกัน ซึ่งอาการของไวรัสตับอักเสบบีและซีจะเหมือนกัน คือ อาการเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และหากตับถูกทำลายมากๆ จะมีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน ท้องโต" พญ.ชีวนันท์ กล่าว
พญ.ชีวนันท์กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีในไทยเฉลี่ยพบ 4-5% โดย 90% หายขาดได้ แต่มี 10% เป็นเรื้อรัง และในระยะยาว 20-30 ปี พบ 10% อาจลุกลามตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ซึ่งสวนทางกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในไทยพบเฉลี่ย 0.9% โดย 90% ไม่หายขาด และ 10% หายได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มไวรัสตับอักเสบซีมักพบมากในบางพื้นที่ อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมาก และกลุ่มสักยันต์สมัยก่อน หมอตำแย เพราะติดต่อผ่านเลือด การมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะชายรักชาย ดังนั้น ขอเน้นย้ำผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือคนเกิดก่อนปี 2535 ขอให้ไปตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งตรวจได้ใน รพ.ทุกแห่ง แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง