เหนื่อยง่ายเป็นประจำไม่ใช่แค่เพราะอ้วนหรืออายุมากขึ้น แต่อาจเกิดจาก “โรคลิ้นหัวใจ” หมั่นเช็กหัวใจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพราะโรคลิ้นหัวใจป้องกันยากแต่รักษาได้
ลิ้นหัวใจมีทั้งหมด 4 ลิ้น ประกอบด้วย Tricuspid valve, Pulmonary valve, Mitral valve และ Aortic valve ทําหน้าที่กั้นระหว่างห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง เพื่อควบคุมการไหลเวียนเลือดให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้องและป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ หากลิ้นหัวใจมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วจนลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่สนิท จะทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิต
นr"สยาม ค้าเจริญ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ความผิดปกติของลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น 5 สาเหตุ คือ 1. โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากความเสื่อม (Degenerative Valve Disease) มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจ 2. โรคลิ้นหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease) เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ทําให้เกิดไข้รูมาติก ซึ่งมีผลทําลายลิ้นหัวใจของผู้ป่วยในระยะยาว มักจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติของหัวใจหลังจากเป็นไข้รูมาติกประมาณ 5-10 ปี 3. โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดและเชื้อโรคไปเกาะกินลิ้นหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยจะเกิดอาการแบบเฉียบพลันและหัวใจวายรุนแรง 4. กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) อาจส่งผลให้เกิดลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วตามมาได้ 5. ความพิการของลิ้นหัวใจแต่กําเนิด (Congenital Valve Disease) มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ทำให้การเจริญเติบโตของลิ้นหัวใจผิดปกติ
“ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจมักจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเท้าบวม ดังนั้น หากพบความผิดปกติจำเป็นต้องรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง หากแพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วและอาการยังไม่รุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยา พร้อมนัดติดตามอาการเป็นระยะ แต่ถ้าอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจหรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม” นายแพทย์สยามกล่าว
การซ่อมลิ้นหัวใจหรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ 1.การผ่าตัดเปิดแผลกึ่งกลางหน้าอก (Open Heart Valve Surgery) โดยศัลยแพทย์จะตัดกระดูกหน้าอกเพื่อเข้าไปแก้ไขลิ้นหัวใจ มีแผลยาวกลางหน้าอกประมาณ 10 เซนติเมตร และใช้เวลาพักฟื้นไม่เกิน 3 เดือน เพื่อรอให้กระดูกประสานกันเหมือนเดิมจึงจะกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือต้องทำร่วมกับหัตถการอื่น ๆ เช่น การทำบายพาสหัวใจ การเปลี่ยนเส้นเลือดแดงใหญ่ เป็นต้น
2.การพัฒนาการผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ MIS (Minimally Invasive Surgery) ด้วยการส่องกล้อง สามารถใช้รักษาลิ้นหัวใจได้ทั้ง 4 ลิ้น ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม อีกทั้งยังสามารถแก้ไขลิ้นหัวใจที่มีปัญหาได้พร้อมกัน 2 ลิ้น ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะช่วยลดการเสียเลือดขณะผ่าตัด ลดจำนวนการนอนโรงพยาบาล ฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในเวลา 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่ง ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย เนื่องจากเปิดแผลขนาดเล็กและไม่ต้องตัดกระดูกบริเวณหน้าอก โดยแผลผ่าตัดหลักมีความยาว 4 – 5 เซนติเมตร ซ่อนอยู่ใต้ราวนมหรือกลางหน้าอก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลิ้นหัวใจที่ต้องการเปลี่ยนหรือซ่อม นอกจากนี้จะมีแผลเจาะรูบริเวณข้างหน้าอกความกว้าง 0.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แผล และมีแผลที่ขาหนีบ 1 แผล ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อใส่สายเข้าไปช่วยการทำงานของหัวใจขณะผ่าตัด แต่ข้อจำกัดคือไม่สามารถทำร่วมกับหัตถการอื่นได้
3. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยวิธี TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) เป็นการเปิดแผลบริเวณขาหนีบขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ แล้วใช้ลิ้นหัวใจเทียมยึดติดกับขดลวดพิเศษ ส่งผ่านระบบท่อนำทาง (delivery system) ไปที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก จากนั้นกางลิ้นหัวใจเทียมเพื่อทำหน้าที่แทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลผ่าตัดเหมือนกับ 2 วิธีแรก จึงช่วยลดความเจ็บปวดในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แต่ข้อจำกัดของ TAVI ไม่ได้เหมาะสมกับกายวิภาคของคนไข้ทุกคน แพทย์จะเลือกใช้เมื่อกรณีที่ผ่าตัดแบบมาตรฐานมีความเสี่ยงสูง หรือผู้ป่วยอายุมากและมีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค
นอกจากนี้ แนะนำว่าควรหมั่นตรวจเช็กการทำงานของหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อคัดกรองโรค หากพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาก็จะไม่ซับซ้อนและมีประสิทธิผลมากกว่าตอนที่อาการรุนแรงแล้ว