แจกชุดตรวจ ATK กลุ่มเสี่ยงระยะที่ 1 รวม 8.49 ล้านชุด คงเหลือ 5,575 ชุด เร่งตรวจสอบต่อเนื่อง ส่วนแจก ATK ระยะที่ 2 เริ่มแล้วให้คนละ 2 ชุดในกลุ่มเสี่ยง ย้ำตรวจแล้วรายงานผลทันที หากไม่ดำเนินการขออีกไม่ได้ "อนุทิน" สั่ง สปสช.หารือร่วมกรมควบคุมโรค จำเป็นต้องแจก ATK อีกหรือไม่ หลังหลายประเทศยกเลิกแล้ว ขณะที่ประชุมบอร์ด สปสช.หารือปรับเกณฑ์คัดกรองโควิด เน้นเฉพาะผู้มีอาการ
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นพ.อภิชาต รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติรับทราบความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจ ATK สำหรับกลุ่มเสี่ยงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 – 31 มี.ค. 2565 เพื่อกระจายชุดตรวจให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ใช้กลไกกระจายผ่านหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ทั้งโรงพยาบาล ร้านขายยา ฯลฯ พร้อมจ่ายค่าตอบแทนให้แก่หน่วยบริการเป็นเงินจำนวน 10 บาทต่อชุด ซึ่งในช่วงดังกล่าวพบว่า มีการกระจาย ATK ลงพื้นที่ไปแล้วเป็นจำนวน 8,494,425 ชุด คงเหลือในคลังกลางจำนวน 5,575 ชุด ทั้งนี้ การแจก ATK กำหนดตามพื้นที่เสี่ยงสีแดง ซึ่งมีประชาชนติดเชื้อจำนวนมาก โดยประชาชนต้องประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวตนในการรับชุดตรวจ 2 ชุด ภายในระยะเวลา 10 วัน หากมีการบันทึกแล้วผลเป็นลบจึงจะสามารถรับชุดตรวจชุดต่อไปได้ โดยในส่วนของการบันทึกผล ซึ่งปิดรับการบันทึกข้อมูลไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 พบว่า มีการบันทึกผล ATK เข้ามาในแอปฯ จำนวน 7,141,966 ชุด ไม่พบการบันทึกผล จำนวน 914,734 ชุด และยังคงเหลือ ATK ในพื้นที่ประมาณ 437,725 ชุด
"หลังจากนี้ สปสช.จะติดตามตรวจสอบต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีโครงการกระจายชุดตรวจ ATK ในระยะที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 กำหนดให้ประชาชนสามารถเข้ารับชุดตรวจ ATK ได้ที่ร้านขายยาหรือคลินิก ขณะที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมจะเป็นผู้จัดหาชุดตรวจและเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช. ราคาชุดละ 55 บาท สำหรับหลักเกณฑ์การรับชุดตรวจ ATK ระยะที่ 2 คนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงรับชุดตรวจ ATK ฟรี คนละ 2 ชุด โดยขอให้ตรวจหาเชื้อทันที เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง และบันทึกผลการตรวจในระบบ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ในครั้งต่อไปได้ กรณีที่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำ สามารถขอรับชุดตรวจ ATK เพิ่มเติมได้ โดยเว้นระยะห่างกันมากกว่า 14 วัน" นพ.อภิชาตกล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขอให้ สปสช. ประสานงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลว่าขณะนี้ยังมีความจำเป็นในการแจกชุดตรวจ ATK มากน้อยเพียงใด เพราะหากดูแนวโน้มในหลายประเทศ รวมถึงบางประเทศในยุโรป ได้เลิกการแจกแล้ว ขณะเดียวกันคาดว่าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) จะผ่อนปรนมาตรการการเข้าเมืองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อส่วนมากในประเทศ เป็นการติดเชื้อในครัวเรือน ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศส่วนใหญ่จะผ่านการตรวจจากสายการบิน หรือประเทศต้นทางแล้วในระดับหนึ่ง อีกส่วนที่จะต้องหารือกับ ศบค. คือลดระดับการตรวจ RT-PCR ลง อาจเริ่มด้วยการขอให้ตรวจก่อนที่จะเดินทางเข้ามาภายในประเทศ เพราะผู้ที่เดินทางเข้ามาจะต้องผ่านการตรวจสอบจากสายการบินและประเทศต้นทางในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นหากต้องมาตรวจ RT-PCR ในประเทศอีกก็อาจทำให้เกิดความยุ่งยากได้ ตรงนี้ สธ. กำลังหาหาจุดสมดุลให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เกิดความตระหนก และให้คนในประเทศสามารถดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้เร็วที่สุด
“หลังสงกรานต์การติดเชื้อน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่เราก็จะพยายามประคองสถานการณ์เต็มที่ให้อยู่ในลักษณะที่ควบคุมได้ ถ้าจำนวนตัวเลขอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เราก็คงมีมาตรการเพิ่มจากรัฐบาลในช่วงก่อนสิ้นเดือนเมษายน เพื่อให้เป็นไปตามวางเป้าหมายไว้” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.วันดังกล่าว มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยเสนอให้มีการประกาศให้ชัดเจนว่า ผู้ที่จำเป็นต้องตรวจ ATK คือผู้ที่มีอาการ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องตรวจ เนื่องจาก สธ.ได้ระบุว่าโควิดกำลังดำเนินสู่โรคประจำถิ่น หากยังระบุว่าต้องมีการตรวจ ATK ก่อนเข้าพื้นที่ต่างๆ ประชาชนก็จะต้องหาชุดตรวจ ซึ่งอาจจะสร้างความยากลำบากให้กับประชาชนบางกลุ่มได้