xs
xsm
sm
md
lg

กทม. เร่งสรุปผลรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาสายบางนา-สุวรรณภูมิ เชื่อมต่อการเดินทางย่านบางนา-ตราด คาดจะเปิดให้บริการปี 2572

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สรุปผลการศึกษาข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การเงิน การลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ให้ ครม.ไฟเขียว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 1 ได้ในปี 2572

วันนี้ (8 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การเงิน การลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมี นายประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการสัมมนา ณ ห้องเมย์แฟร์ บอลรูม เอ ชั้น 11 โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ

การสัมมนาในครั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาข้อมูลโครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ โครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีทั้งหมด 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17 สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด กม.6 สถานีบางแก้ว สถานีกาญจนาภิเษก สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว และสถานีธนาชิตี้ ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร และระยะที่ 2 จากธนาชิตี้-สุวรรณภูมิใต้ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีมหาวิทยาลัยเกริก และสถานีสุวรรณภูมิใต้ ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร โดยโครงการแบ่งรูปแบบของสถานีไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้ ประเภท A สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 17 สถานีวัดศรีเอี่ยม สถานีเปรมฤทัย สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบางแก้ว สถานีวัดสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้ ประเภท B สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ โครงการจำเป็นต้องออกแบบสถานีให้รองรับด้วยโครงสร้างเสาคู่ มีจำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาชิตี้ ประเภท C สถานีระดับดิน จะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา

สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 1 ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000 - 30,000 คน/ชั่วโมง ส่วนอัตราค่าโดยสาร กำหนดให้ค่าโดยสารในปีเปิดให้บริการ (ปี 2572) มีอัตราแรกเข้า 14.4 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทาง คือ 2.6 บาท ต่อกิโลเมตร โดยมีเพดานค่าโดยสารสูงสุด 45.6 บาท โดยจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2572 ประมาณ 82,695 คน-เที่ยว/วัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คน-เที่ยว/วัน และในปี 2578 กรณี AOT เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คน-เที่ยว/วัน

ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ 1.PPP Net Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินการและบำรุงรักษาเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับโครงการ โดยรัฐให้สิทธิ์แก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งของรายได้แก่รัฐ 2.PPP Gross Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด โดยเอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินการและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น ส่วนรัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและเป็นผู้กำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน 3.PPP Modified Gross Cost ในช่วงลงทุนก่อสร้าง รัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อให้เอกชนก่อสร้างงานโยธาของโครงการทั้งหมด เอกชนเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ ส่วนช่วงดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ และการลงทุนอื่นที่จำเป็น รัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและกำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาณร่วมลงทุนและได้รับผลตอบแทนพิเศษเพื่อเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

ภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดส่งรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการนี้ เพื่อนำเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติโครงการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1.5 ปี จากนั้นขั้นตอนการก่อสร้างและทดสอบระบบใช้เวลาประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2568-2571 โดยคาดว่าโครงการจะสามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 1 ได้ในปี 2572




















กำลังโหลดความคิดเห็น