จิตแพทย์ ชี้ ด.ญ. 14 ปี ร่วมแฟนหนุ่มฆ่าแม่ พื้นฐานมาจากความรุนแรงในครอบครัว จึงใช้ความรุนแรงกลับ แนะคนในชุมชน ข้างบ้าน ต้องช่วยหยุดความรุนแรงในบ้าน ไม่นิ่งเฉย หรือแค่วิพากษ์วิจารณ์ แนะพ่อแม่ฝึกลูกให้รักตัวเองให้เป็น ดีกว่าพึ่งพาความรักจากคนอื่น แนะดูแลเยียวยาจิตใจพี่ชาย
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี ด.ญ.วัย 14 ปี ร่วมมือแฟนหนุ่มอายุ 16 ปี ฆ่าแม่ตัวเองเนื่องจากระบุว่าถูกแม่กีดกันความรัก ขณะที่พี่ชายที่เข้ามาช่วยเหลือถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสด้วย ว่า ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องของดรามา โทษเด็กถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร ส่วนสาเหตุที่เด็กก่อพฤติกรรมเช่นนี้ เจ็บป่วยทางสุขภาพจิตหรือไม่ต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจน แต่ที่แน่ชัด คือ พฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมา แสดงว่า โตมาบนพื้นฐานความรุนแรงในครอบครัว เลยใช้ความรุนแรงในการแสดงออก เรื่องนี้ต้องมีการทบทวนในระดับสังคมทั้งระบบ ว่า มีใครรู้บ้างว่า เด็กมีพฤติกรรมส่อใช้ความรุนแรง ทั้งคนข้างบ้าน โรงเรียน ครู มีใครทราบถึงเรื่องนี้หรือไม่
“เชื่อว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กคนนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีความรุนแรงหรือเป็นเรื่องไม่ดีตลอดเวลา เป็นเพียงอารมณ์ขณะหนึ่ง อาจเป็นอารมณ์โกรธที่คุมตัวเองไม่ได้ ฉะนั้นวิธีแก้ไข คือ ต้องเอาสิ่งดีงามเข้าไปในตัวเด็ก ต้องมีชีวิตอยู่ที่เพิ่มพูนสิ่งที่ดี ซึ่งจะเห็นว่า ในสถานพินิจฯ เช่น บ้านกาญจนา ก็เป็นแหล่งรวมของเด็กที่มีการใช้ความรุนแรงก่อเหตุ ตั้งแต่ฆ่าเพื่อนขโมยจักรยาน, ปาหินจนรถเกิดอุบัติเหตุ เพื่อขโมยทรัพย์สิน แต่เด็กเหล่านี้ได้รับการดูแลแก้ไขปรับปรุง เมื่อออกมาก็มีชีวิตใหม่ในสังคม และได้รับการยอมรับ เพราะความรุนแรงที่เกิดหรือที่เด็กใช้ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และการกระทำในขณะนั้นเป็นเพียงการขาดวิจารณญาณ” นพ.ยงยุทธ กล่าว
ส่วนที่ระบุว่า ไม่แคร์ไม่เสียใจต่อการกระทำ เป็นเพียงความคิดชั่วขณะของการกระทำเท่านั้น ทั้งนี้ การตั้งต้นแก้ไขปัญหานี้ เริ่มได้จากการไม่สนับสนุนและมีส่วนช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยคนในชุมชน คนข้างบ้าน สามารถร่วมสังเกต และแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ให้เข้าไปช่วยเหลือ นำเด็กออกมาจากวงจรความรุนแรง เพื่อให้ในครอบครัว เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก้ไข และนำเด็กออกมา อาจมาอยู่สถานสงเคราะห์หรือที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็เป็นการบ่มเพาะสร้างและฝึกความเป็นพ่อแม่ด้วย
“หากครอบครัวปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ เด็กก็สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวเช่นเดิม หากมีการใช้กฎหมายนี้เข้ามาแก้ไขปัญหาในครอบครัวก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการใช้ความรุนแรง ดีกว่าที่คนส่วนใหญ่พบเห็นการใช้ความรุนแรง แต่เลือกที่จะนิ่งเฉยและวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่ ทั้งนี้ บ้านพักฉุกเฉินหรือสถานพินิจฯ มีโครงการดูแลเด็ก เมื่อผ่านการอบรมดูแล เด็กสามารถกลับมาอยู่ในชุมชนได้ ส่วนพี่ชายของเด็กควรนำตัวมาตรวจสอบและดูว่ามีบาดแผลทางใจหรือไม่ หากมีก็รับการรักษาดูแลเยียวยา” นพ.ยงยุทธ กล่าว
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ธรรมชาติของวัยรุ่น ความรู้สึกทุกประเภท ทั้งโกรธ โมโห หรือรักจะมีความรุนแรงอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พัฒนาด้านความคิดยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ที่จะมองเห็นทางออกที่มากกว่า 1 ทาง หรือข้อดีข้อเสียอย่างครบรอบด้าน จึงทำให้เกิดการตัดสินใจที่ใช้วิธีรุนแรง เพื่อทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการ แต่ก็ไม่ใช่เพียงอิทธิพลของการเป็นวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่เราอาจไม่ทราบรายละเอียด เช่น สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงวิธีหรืออาวุธที่ง่าย ยาเสพติด ไปจนถึงการมีบุคคลอื่นเข้ามาร่วมในการวางแผน ทั้งนี้ ความรักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ไม่ใช่สิ่งที่ผิด สิ่งสำคัญคือพ่อแม่จะต้องสื่อสารและใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกมีเวลาสนใจกับเรื่องที่เป็นลบน้อยลง ซึ่งความรักก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นลบ เพียงแต่ว่า หากเด็กใช้เวลาพัฒนาความสามารถของตัวเอง การพัฒนางานอดิเรกที่ช่วยให้เด็กมีความสุข เห็นคุณค่าและรักตัวเขาเองมากที่สุด เพื่อเติมเต็มความรู้สึกในตัวเด็กเอง จะทำให้เด็กไม่ต้องพึ่งพาความรักจากที่อื่นเพื่อเติมเต็มตัวเอง เปลี่ยนจากการกีดกันเด็กไม่ให้มีความรัก เพราะช่วงที่เด็กต้องการการเติมเต็มแล้วโดนกีดกัน ก็จะเกิดความขัดแย้งทั้งพ่อแม่และเด็ก
“สิ่งที่พ่อแม่น่าจะห่วงใยมากกว่า ไม่น่าจะเป็นความรัก แต่เป็นการพึ่งพาความรักจากคนอื่นมากเกินไป สิ่งนี้เราน่าจะชวนพ่อแม่มาดู ฝึกให้ลูกรักตัวเองเป็น อยู่ด้วยตัวเองเป็น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความรักจากคนรักของตัวเอง ดังนั้น เด็กที่รักตัวเองเป็น จึงจะรักคนอื่นอย่างมีคุณภาพได้ ความรักจากพ่อแม่ที่มีแก่ลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นสิ่งที่มีค่าของครอบครัว และในเมื่อเขาเป็นสิ่งที่มีค่า เขาจึงต้องรักในสิ่งนี้ นั่นก็คือตัวเขาเอง” พญ.ดุษฎี กล่าว
เมื่อถามถึงการระบุว่า เด็กทั้งสองคนมีภาวะโรคซึมเศร้า รวมถึงความคิดที่จะลงมือฆ่าแม่ตัวเอง รอมอบตัว และหวังว่า ออกมาจากคุกจะใช้ชีวิตร่วมกัน พญ.ดุษฎี กล่าวว่า สำหรับการแสดงออกของโรคซึมเศร้าก็อาจจะมีอาการของอารมณ์โกรธ หงุดหงิดเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะนี้จะทำร้ายตัวเอง และบางส่วนอาจจะทำร้ายคนอื่นได้เช่นกัน ทั้งนี้ เราไม่สามารถระบุฟันธงได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากโรคซึมเศร้า แต่จะต้องมีการสัมภาษณ์ประวัติ มีการตรวจวินิจฉัยอีกเยอะมาก
“ในทางกฎหมายมีความละเอียด สิ่งที่ตอบได้ทางจิตเวช คือ ความผิดถือว่าเกิดแล้ว หากพิสูจน์ได้ว่าเด็กทั้งสองมีส่วนกระทำผิดจริง แต่แม้จะปัญหาเรื่องโรคทางจิตเวช แต่ศาลจะใช้ดุลยพินิจว่าผิด แต่ความจำเป็นรับโทษมากน้อยอย่างไร จึงจะใช้เหตุทางโรคจิตเวชเพื่อพิจารณาประกอบซึ่งเป็นไปตามกระบวนการนิติจิตเวช นี่เป็นสิ่งที่สังคมเข้าใจผิดว่าอ้างเป็นโรคจิตเวชแล้วจะไม่ผิด แต่จริงๆ คือผิด แต่สำหรับเด็กศาลเด็กและเยาวชนจะเน้นการแก้ไข ฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษให้หลาบจำ” พญ.ดุษฎีกล่าว
เมื่อถามถึงพี่ชายที่รอดชีวิตมาได้ จะเกิดความโกรธแค้นน้องสาวหรือไม่ จะต้องฟื้นฟูจิตใจอย่างไร พญ.ดุษฎี กล่าวว่า พี่ชายในกรณีนี้จะเป็นทั้งเหยื่อความรุนแรงและผู้สูญเสีย ซึ่งต้องเยียวยาจิตใจให้พ้นภาวะสูญเสียให้ได้ ทีมสุขภาพจิตจำเป็นต้องเข้ามาดูแลอย่างยิ่ง แต่เราจะต้องแยกให้ชัดถึงความสัมพันธ์กับน้องสาว เป็นจุดที่ต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซึ่งควรวางอยู่ระยะหลังที่เยียวยาจิตใจการจากเป็นเหยื่อและผู้สูญเสียก่อน ต้องกลับไปที่ฐานว่า ขณะที่น้องสาวตัดสินใจเช่นนั้นเพราะอะไร ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาตอนจบของเรื่องนี้ได้ เพียงแต่จุดที่ต้องเดินไปคือ พี่ชายต้องได้รับการเยียวยาจิตใจ ขณะเดียวกัน เด็กทั้งสองคน ต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อให้เด็กมีการตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง