สสส.ชู "เสียวโมเดล" จ.ศรีสะเกษ พื้นที่ต้นแบบงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ดึงภาครัฐ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อน ขยายสู่ระดับอำเภอและจังหวัด เผยดำเนินงาน 14 ปี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 143 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ติดตามการดำเนินงานลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายในชีวิต ทั้งความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท ที่ผ่านมา สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อเปลี่ยนค่านิยม ผ่านการสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และภาคนโยบาย โดยมีแนวทางดำเนินงานตามยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.การปรับเปลี่ยนค่านิยมและลดแรงสนับสนุนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. การลดอันตรายของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ และ 5.การพัฒนากลไกการจัดการและสนับสนุนด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดที่เข้มแข็ง
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สำหรับ "โพธิ์ศรีสุวรรณโมเดล" ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มเเข็ง ทำให้เห็นว่าการสนับสนุนของภาคประชาสังคมมีความสำคัญมาก ในการเฝ้าระวังเเละบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มจากการทำข้อตกลงร่วมกันในชุมชน ขยับเป็นธรรมนูญตำบล เกิดเป็นพลังระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อใช้ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานฝ่ายปกครองอย่างต่อเนื่อง
“สสส. มุ่งเน้นเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าของการจัดงานปลอดเหล้าให้แก่ เจ้าภาพจัดงาน หน่วยงาน ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในสังคมไทย ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้งานบุญประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% จนเกิดเป็นวัฒนธรรมสร้างสุข ไร้แอลกอฮอล์ สร้างสังคมแห่งการมีสุขภาวะที่ดีทุกระดับ” นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สคล. กล่าวว่า สคล.ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานอย่างเข้มข้นใน ต.เสียว ที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น มารณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการประกาศเจตนารมณ์ของคนในหมู่บ้าน เกิดเป็นงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ขยายความเข้มแข็งจากตำบลสู่อำเภอ และจังหวัด ที่ประกาศให้งานทุกเทศกาลในศรีสะเกษปลอดเหล้า เริ่มทำตั้งแต่ปี 2553 - ปัจจุบัน โดยใช้การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม ไม่ได้ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ ในรูปแบบ Soft power ดึงคนในชุมชนมาช่วยกันสร้างกลไกสำคัญต่อสู้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย สคล.หวังให้โมเดลของ ต.เสียว ขยายผลไปสู่ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะใน 15 จังหวัด ที่มีต้นทุนคล้ายกับศรีสะเกษ เช่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ ลำพูน ตาก เป็นต้น
กลยุทธ์การทำงานสำคัญของ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ คือ ดึงภาครัฐร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธานและฝ่ายสาธารณสุขเป็นเลขานุการ ร่วมกับภาคประชาสังคมที่มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) รวมอยู่ด้วย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายในระบบราชการ คณะทำงานก็ทำงานต่อไปได้ไม่หยุดชะงัก สะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สคล.จะปรับแนวทางการทำงานไปในเชิงพื้นที่มากขึ้น จากเดิมที่มุ่งผลักดันระดับนโยบายอย่างเดียว เพื่อให้เกิดข้อบังคับใช้กฎหมายลงมาสู่ระดับล่าง ทำให้ไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน ปัจจุบันกระแสสังคมเปลี่ยนไป สื่อเข้าถึงคนง่าย เครือข่าย สคล.ในพื้นที่ จะทำให้มองเห็นภาพและบริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้รู้ความต้องการของชุมชน และปรับการทำงานได้ตรงจุดมากขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ชุมชน เยาวชน รวมถึงการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ความเข้มแข็งของชุมชนมีส่วนสำคัญที่ทำให้สร้างคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้นได้ ปัจจุบันได้ใช้กลไกบ้าน วัด โรงเรียน (บวร.) ร่วมกับ หน่วยงานข้าราชการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยเริ่มต้นในหน่วยเล็กที่สุด คือ หมู่บ้าน หากสร้างความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็สามารถเคลื่อนงานระดับใหญ่ขึ้นได้ ส่วนงานบุญประเพณีปลอดเหล้า อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ จะส่งข้อมูลทุกวันที่ 14 ธ.ค.ของทุกปี เพื่อนำมาวิเคราะห์ แก้ปัญหา หาข้อสรุปทำงานร่วมกันในปีต่อๆไป โดยระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา พบการประหยัดค่าใช้จ่ายจากงานบุญปลอดเหล้าทั้งหมด 143,382,000 บาท ถือเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน ทำให้เห็นผลดีทางเศรษฐกิจ และทำให้ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่าง ๆ ลดลง ผ่านการใช้หลัก 3 ดี คือ 1.) คนดีมีคุณธรรม 2.) สุขภาพดี และ 3.) เศรษฐกิจดียั่งยืน