xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งหาค่าตรวจเลือดวัดเมา 20-30 ล. ปิดช่องโหว่ตรวจได้แค่ช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่-สงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เตรียมหางบตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือด หากเกิดอุบัติเหตุหรือทำผิด กม.จราจรฯ ผ่านกองทุนต่างๆ คาดใช้งบ 20-30 ล้านบาทต่อปี อุดช่องโหว่มีงบตรวจแค่ช่วง 7 วันอันตราย ปีใหม่และสงกรานต์ ย้ำเบื้องต้นเป่าวัดเมาได้ หากเป่าไม่ได้ให้ตรวจเลือด กรณีไม่ยินยอมเป่าสันนิษฐานได้ว่าเมา ส่วนกรณีเรือเอกชนต้องออกประกาศเพิ่ม

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ยังมีการพิจารณาให้มีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทุกกรณีในช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2565 คือ วันที่ 11-17 เม.ย. 2565 และหารือถึงในอนาคตที่จะให้ตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือการทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นทางเลือกหากไม่สามารถเป่าวัดแอลกอฮอล์ได้ หรือจุดนั้นไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ในลมหายใจที่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ หากปฏิเสธการเป่าให้สันนิษฐานว่าเมา ซึ่งการเป่าแอลกอฮอล์จากเครื่องที่ผ่านมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถใช้ในการดำเนินคดีได้ โดยปัญหาของการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด เดิมจะมีงบให้ทางด่านหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการในช่วง 7 วันอันตราย แต่ในอนาคตเราจะหางบประมาณเพื่อให้ทำได้ทุกช่วงเวลา ซึ่งกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการหางบประมาณดังกล่าว


เมื่อถามว่า การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทำได้ในการจราจรทางน้ำหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียด หากเป็นท่าเรือสาธารณะสามารถตรวจได้ แต่เมื่ออยู่บนเรือที่เป็นเอกชนก็ต้องมีการประกาศเพิ่ม ซึ่งเป็นอำนาจของผู้รักษาการของพ.ร.บ.นั้น คือ นายกรัฐมนตรี แต่จะมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเห็นด้วยว่าควรประกาศเพิ่ม เนื่องจากเราไม่ได้ตรวจทั่วไป ต้องมีเหตุจึงจำเป็นตรวจ อย่างตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบการล่องเรือมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ ก็มีการพูดคุยว่า ก่อนสงกรานต์ควรมีการไปตรวจสอบมาตรกฐานการขับขี่ ขนส่งสาธารณะต่างๆด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

“การดำเนินคดี เครื่องเป่าที่ได้มาตรฐานสามารถบอกได้ว่า มีแอลกอฮอล์เท่าไร สามารถนำไปใช้ดำเนินคดีได้ เว้นผู้เกิดอุบัติเหตุไม่สามารถอยู่ในสถานะเป่าแอลกอฮออล์ก็นำเลือดไปตรวจได้ ส่วนคนปฏิเสธการเป่า เจ้าหน้าที่สามารถสันนิษฐานว่าเมา ส่งฟ้องดำเนินคดีได้ แต่เมื่อมีการสอบสวนก็ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าเกินหรือไม่เกินมาตรฐานก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป” นายสาธิต กล่าว


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า งบประมาณที่จะจัดหาผ่านกองทุนต่างๆ เบื้องต้นคาดว่าใช้ประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปี ขณะที่งบที่ใช้ช่วง 7 วันอันตรายอยู่ประมาณ 1-2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรณีหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน และพบผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีการตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือด จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเอาผิดกับผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กด้วยเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น