xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิธีดับ 4 ไฟร้ายในกาย ลดเจ็บป่วยช่วงหน้าร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมแพทย์แผนไทยห่วงอากาศร้อน หวั่นธาตุไฟเสียสมดุล ก่อ 4 ไฟร้ายในร่างกาย ทำเจ็บป่วยได้ พร้อมเปิดแนวทางใช้ยา อาหาร สมุนไพรไทยช่วยดับพิษไฟ รักษาสมดุล ลดอาการเจ็บป่วย

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงแนวทางดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทยในช่วงหน้าร้อนว่า ช่วงฤดูร้อนอาจมีปัญหาสุขภาพที่ตามมาจากอากาศร้อนได้ เช่น อาการฮีทสโตรก ผิวหนังแสบร้อนเกิดผื่นคัน มีอาการร้อน เป็นไข้จากความร้อนในร่างกาย มีอาการท้องร่วงท้องเสียที่เกิดจากอาหาร สิ่งเหล่านี้แพทย์แผนไทยมักแนะนำให้ทำการปรับธาตุไฟในร่างกายไม่ให้เสียสมดุล เพราะศาสตร์แผนไทยนั้นในร่างกายมนุษย์เราเกี่ยวข้องกับธาตุไฟที่อาจก่อให้เกิดผลกับร่างกาย 4 ประเภท คือ

1.ไฟสันตัปปัคคี จะทำให้เกิดการเป็นไข้ตัวร้อน เกิดผื่นที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ดังนั้นหากเป็นไข้ตัวร้อนไม่สบาย ให้ใช้ยาในกลุ่มยาแก้ไข้ เช่น ยาจันทลีลา ยาฟ้าทะลายโจร นอกจากนี้สามารถใช้ยาตรีผลา ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ และปรับสมดุลร่างกาย ส่วนอาการทางผิวหนัง หากเกิดผื่นที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ควรใช้คาลาไมน์พญายอ บรรเทาอาการผดผื่นคัน ครีมใบบัวบก บรรเทาอาการอักเสบ

2.ไฟปริทัยหัคคี ทำให้เกิดอาการร้อนระส่ำระส่าย ร้อนอกร้อนใจ (หัวร้อน) ระงับหรือบรรเทาอาการด้วย กลุ่มยาหอม ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพย์โอสถ และยาหอมแก้ลมวิงเวียน เป็นต้น

3.ไฟชิรณัคคี ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม แก่คร่ำคร่า ซึ่งต้องปรับธาตุไฟชนิดนี้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วง 22.00 – 02.00 น. ต้องนอนให้หลับ และหลีกเลี่ยงอบายมุขทั้งปวง

4.ไฟปริณามัคคี ทำให้เกิดอาการผะอืดผะอม ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ลมดันขึ้นยอดอก หรือมักมีอาการท้องเสีย จะใช้ยาธาตุบรรจบ ช่วยขับลมในลำไส้ ปรับระบบทางเดินอาหารให้เป็นปกติ หรือยาเหลืองปิดสมุทร ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

"หากไม่ได้มีอาการชี้ชัดข้างต้น การดูแลสุขภาพทั่วไปช่วงฤดูร้อน ให้ปรับธาตุในร่างกายด้วยอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรส ขม เย็น จืด เช่น มะระ ย่านาง ขี้เหล็ก บัวบก บวบ น้ำเต้า ตำลึง ฯลฯ จะมีฤทธิ์แก้ไข้ ช่วยระบายความร้อนภายในร่างกาย ปรับสมดุลของธาตุไฟภายในร่างกายได้ เมนูที่แนะนำ ได้แก่ มะระทรงเครื่อง มะระผัดไข่ แกงขี้เหล็ก แกงเลียง แต่ต้องลดความเผ็ดร้อนลง เพิ่มผักรสเย็นจืด เช่น ใส่บวบ น้ำเต้า ตำลึงเพิ่มมากขึ้น น้ำสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ น้ำใบบัวบก น้ำใบย่านาง น้ำใบเตย ชาดอกมะลิ น้ำแตงโม และน้ำเก๊กฮวย ผลไม้ เช่น แตงโม แคนตาลูป มะพร้าว ชมพู่ เสาวรส และส้มเขียวหวาน เป็นต้น" นพ.ธิติกล่าว

นพ.ธิติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องปรับพฤติกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ไม่กินอาหารมากหรือน้อยเกินไป กินแต่พออิ่ม ปรับเปลี่ยนอิริยาบททุก 30 นาที หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์แล้วออกมาตากแดดร้อนๆ โดยควรต้องให้ร่างกายปรับตัวสักพัก ค่อยเดินออกมากลางแจ้ง ไม่อดข้าว อดน้ำ และอดนอน ไม่กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ทำงานหักโหมเกินกำลัง ทำจิตใจให้ผ่อนใส ปราศจากความโกรธ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ


กำลังโหลดความคิดเห็น