วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (วพม.) ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จัด “การประชุมวิชาการ เภสัชวิทยาของยาใหม่ ประจำปี 2565” ยกระดับความรู้ให้เท่าทันวิทยาการทางเภสัชวิทยาที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และเพิ่มพูนข้อมูลทางวิชาการ ทั้งวัคซีนและยาชนิดใหม่ ที่ได้รับรองใช้เฉพาะช่วงการระบาดของ COVID-19 และการขึ้นทะเบียน คาดหวังเป้าหมายหลักเภสัชกรและบุคลากรทางสาธารณสุข ได้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำความรู้มาพิจารณาคัดเลือกยาที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (29 มี.ค.) พลตรี สุรศักดิ์ ถนัดศีลธรรม ผู้อำนวยการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (วพม.) และ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรค ได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทางผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถหาความรู้ หรือข้อมูลของยาได้จากตำรา หรือทางอินเตอร์เนต ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และพยาบาล จึงจำเป็นต้องติดตามความก้าวหน้าดังกล่าว เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยภาควิชาเภสัชวิทยา กองการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้ร่วมมือกับ TCELS “จัดการประชุมวิชาการ เภสัชวิทยาของยาใหม่ ประจำปี 2565” ภายใต้หัวข้อ Pharmacotherapy of New Drugs 2022 โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มากล่าวสุนทรพจน์ และกล่าวเปิดงานประชุมวิชาการฯ ซึ่งจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีโอกาสแลกเปลี่ยน องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาใหม่ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานทางเภสัชวิทยา เช่น กลไกการออกฤทธิ์ ผลข้างเคียง รวมถึงข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพันธุศาสตร์ ตลอดจนการนำมาใช้ทางคลินิกตามหลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัย และสามารถนำไปสู่การใช้ยาได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับฟังการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขา ซึ่งได้แบ่งหัวข้อออกเป็น ยาและวัคซีนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โรคไม่ติดต่อและยารักษา อาทิเช่น ยารักษามะเร็ง ยารักษาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ และยารักษาโรคระบบประสาทส่วนกลาง รวมไปถึงการพัฒนายาจากสมุนไพร ด้วยเนื้อหาจากการประชุมที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้น มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเลือกใช้ยา ประเมินการใช้ยา รวมถึงเฝ้าติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์จากยา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือตามหลักวิชาการได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS กล่าวว่า การทบทวนความรู้ และเพิ่มพูนความรู้ด้านเภสัชวิทยาที่ทันสมัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะปัจจุบันที่อยู่ในภาวะการระบาดของโรค COVID-19 โดยการจัดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2565 ว่าด้วยเรื่องความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยาของยาใหม่นี้ จะเป็นช่องทางการสื่อสารนำความรู้ประสบการณ์มาใช้ในการป้องกัน และลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรค ให้ใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้
“ที่ผ่านมาทาง TCELS นั้นเองก็ได้มีโครงการผลักดัน ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District : YMID) ในการยกระดับงานวิจัย ทดสอบให้สร้างผลิตภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์บนพื้นฐานของการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลักดันเครือข่ายศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติ นักวิจัย ผู้ประกอบการ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่ต้องการขยายผลงานออกสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนผลักดันให้เป็นเขตพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศ BOI เรื่อง “มาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์” เพื่อความมั่นคงทางยา วัคซีน มั่งคั่งจากธุรกิจสืบเนื่อง และมีความยั่งยืนส่งต่อไปยังลูกหลาน ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้ตอบสนองการขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐต่อไปในอนาคต” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว