สกสว. แถลงความสำเร็จ การพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมชุด “นักสืบของอดีต” จากงานวิจัยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงใน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน กระตุ้นความสนใจเด็กและเยาวชนกับการเรียนรู้เชิงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาติ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แถลงเปิดตัวชุดบอร์ดเกม “นักสืบของอดีต” ว่า ที่ผ่านมา สกสว. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เดิม ให้การสนับสนุน โครงการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมชุด ‘นักสืบของอดีต’ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ พ.ศ. 2561 – 2563 แก่ นายศุภร ชูทรงเดช ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ โดยรับผิดชอบในการออกแบบและการผลิตสื่อ และ นายวริศ โดมทอง นักวิจัยด้านการพัฒนาเกม จากงานวิจัยโครงการวิจัย เรื่อง “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ของ ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และคณะ ที่ได้กรุณารับเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการวิจัยบอร์ดเกม
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่า โครงการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมชุด ‘นักสืบของอดีต’ นี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ที่ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ แต่เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สามารถนำไปขยายผลให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้ได้เรียนรู้และตระหนักรู้เรื่องราวทางด้านโบราณคดี เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับประวัติศาสตร์ชาติ และประวัติศาสตร์โลก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเผยแพร่ และสื่อสารกับสาธารณะ ได้รับรู้ถึงประโยชน์จากชุดนวัตกรรมบอร์ดเกม รวมถึงการสนับสนุน หรือผลักดันเชิงพาณิชย์ ชุดการเรียนรู้ต้นแบบ (Prototype) นี้ ให้เกิดการขยายผลต่อไป
ด้าน นายศุภร ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า บอร์ดเกมถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการสื่อสารงานวิจัยที่ซับซ้อน ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ง่าย ผ่านประสบการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นระหว่างงานวิจัยและกลไกของเกมกระดาน และเป็นนวัตกรรมขนาดพกพาที่เสริมสร้างพฤติกรรมด้านการปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนความคิด อีกทั้งลดช่องว่างระหว่างวัย และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นในทุกระดับบนพื้นฐานของการเล่นแบบเผชิญหน้า ผ่านการใช้อุปกรณ์ที่จับต้องได้เป็นสื่อกลางสำคัญต่อการขับเคลื่อนประสบการณ์ของผู้เล่น ประสบการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นมีส่วนช่วยให้ผู้เล่นที่มาจากต่างถิ่นฐาน ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม เกิดความเข้าใจ จดจำข้อมูล ความรู้สึกของเนื้อหาร่วมกันได้อย่างสนุกสนานและไม่ซ้ำกันในแต่ละรอบ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสันทนาการที่เหมาะสมต่อการเข้าถึงของผู้คนทุกระดับ เล่นได้ทุกบริบท พร้อมมีส่วนช่วยลดระดับสังคมหน้าจอ เสริมสร้างบรรยากาศของการพักผ่อนควบคู่ไปกับประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนำมาสู่การจัดการออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมอย่างมีระบบภายใต้รูปแบบของงานวิจัย ที่มีกระบวนการสำรวจ ทบทวนบริบทของพื้นที่ ทดสอบคนทั้งในและนอกวัฒนธรรม วิเคราะห์และประเมินผลเพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคล สังคม และเศรษฐกิจ ใน 3 ชุด ดังนี้
บอร์ดเกมชุดที่ 1 นักสืบชาติพันธุ์ (มานุษยวิทยา)
• กลุ่มชาติพันธุ์มีอัตลักษณ์ ความแตกต่างและวัฒนธรรมที่ร่วมกัน แต่ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขาดการสื่อสารซึ่งกันและกัน นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำเรื่องของความเข้าใจกันของกลุ่มชาติพันธุ์
• การศึกษาชาติพันธุ์วรรณาทางโบราณคดีและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคติชนวิทยาเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษาวิถีชีวิตและสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งการแต่งกาย ความเชื่อประเพณี อาหาร การละเล่นและอื่น ๆ
• รูปแบบการเล่นที่ใช้การซ่อนตัวตนของตนเอง (Hidden role) มาส่งเสริมเรื่องของความจำและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในกลุ่มผู้เล่น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม
บอร์ดเกมชุดที่ 2 ปริศนาโลงไม้ (ประวัติศาสตร์และโบราณคดี)
• การศึกษาแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมโลงไม้ส่วนใหญ่ถูกทำลายและรบกวนจากคน สัตว์ และธรรมชาติ รวมไปถึงยังคงมีการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ทำให้การสร้างภาพในอดีตบางแง่มุมยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงปัจจุบัน
• การศึกษาทางโบราณคดี ผนวกกับการมององค์รวมทางวัฒนธรรมเป็นแนวทางสำคัญในการแยกระบบกลไกออกมาได้อย่างชัดเจนทั้งระบบการดำรงชีวิต ระบบการตั้งถิ่นฐาน ระบบความเชื่อ และระบบเทคโนโลยี
บอร์ดเกมชุดที่ 3 นักสืบของอดีต (การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม)
• การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม ผสมผสานกับแนวคิดการสร้างพลังทางสังคมและชุมชน ให้ตระหนักถึงคุณค่าความรู้และมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่น สะท้อนผ่านขั้นตอนและกระบวนการทำงานของนักโบราณคดี เพื่อให้เข้าใจและคำนึงถึงความสำคัญของการอนุรักษ์อัตลักษณ์ วัฒนธรรมภายในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม บอร์ดเกมทั้ง 3 ชุด สามารถสร้างผลกระทบในหลายมิติ เช่น มิติการเรียนรู้ ที่เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน และมิติการท่องเที่ยวแบบพกพา ซึ่งสร้างประสบการณ์ก่อนการท่องเที่ยว ให้เกิดความเข้าใจบริบทของพื้นที่ที่มากขึ้น นำไปสู่กิจกรรมสันทนาการที่พัฒนาทักษะและความรู้ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวมูลค่าสูง รวมถึงมิติเศรษฐกิจ ที่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มาจากผลงานวิจัย เพื่อจัดจำหน่ายและกระจ่ายสู่ท้องตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับชุมชน ที่ทีมวิจัยขอนำเสนอและอยากให้เกิดการสนับสนุนเพื่อขยายผลต่อไป