“ฉันไม่น่าให้แกเกิดมาเลย”
“ฉันไม่เชื่อว่าแกจะทำได้หรอก น้ำหน้าแบบนี้ไปไม่รอดหรอก” ฯลฯ
สารพัดคำพูดลบ ๆ ร้าย ๆ เป็นคำไม่ดีที่ไม่มีใครชอบฟัง และส่วนใหญ่ก็รู้ว่าไม่ดี แต่คำพูดเหล่านี้ก็ยังเป็นคำพูดสื่อสารที่มีอยู่มากในสังคม และมีเด็กจำนวนมากที่ถูกกระทำอยู่ทุกวี่วันทั้งจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิด ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่นอกเหนือจากการทำร้ายร่างกาย ก็คือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว สุขภาพกายและจิตใจของบุคคลในครอบครัว จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นครอบครัวด้วยการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติกันทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้
เรื่องคำพูดร้าย ๆ ลบ ๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
บรรดานักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนพยายามรณรงค์ให้ผู้ใหญ่ใช้คำพูดหรือการสื่อสารเชิงบวก ทัศนคติบวกกับเด็กมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้ผลนัก เพราะปัญหาเรื่องการกระทำความรุนแรงในเด็กก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ตัวอย่างในสังคมที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็กแทบทุกวี่วัน !
การสื่อสารภายในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว การสื่อสารของสมาชิกในบ้าน ไม่ว่าจะบทบาทสามีภรรยา ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก ฯลฯ ล้วนแล้วอยู่ในสายตาของเด็ก มีผลต่อเด็กแน่นอน ถ้าเด็กได้เห็นแบบอย่างที่ดี การสื่อสารที่ดี ก็เท่ากับเป็นการสอนลูกทางตรงตั้งแต่เขายังเล็ก ตรงกันข้ามถ้าเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ใช้คำพูดร้าย ๆ ลบ ๆ เขาก็จะนำเอาคำเหล่านั้นติดตัวไป
และคำพูดร้าย ๆ ลบ ๆ ของพ่อแม่นั่นแหละที่ทำร้ายลูกมากกว่าที่คิด ลองสำรวจว่าเราเป็นผู้ใหญ่ในบ้านที่ชอบสื่อสารด้วยพฤติกรรมและท่าทีเหล่านี้หรือเปล่า
ล้อเลียน ด้อยค่า
คำพูดล้อเลียนลูก หรือด้อยค่าลูกต่อหน้าคนอื่น หรือไม่สนใจความคิดหรือความกังวลของเขาในขณะที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีการทำร้ายทางจิตใจ ทำให้ลูกรู้สึกแย่กับตัวเอง
ตำหนิบ่อยๆ
ประเภทชอบตำหนิไว้ก่อน เรียกว่าเป็นนิสัยติดตัวของผู้ใหญ่ที่เริ่มประโยคลบ ๆ ไม่เชื่อใจลูก ไม่คิดว่าลูกจะทำได้ หรือกล่าวโทษในสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของลูก
ชอบตัดบท
เวลาพูดคุยกันหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างพ่อแม่ลูก มักชอบตัดบท และเป็นการตัดบทแบบที่ยังค้างคาใจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะกลัวเสียหน้าลูก หรือไม่ให้ความสนใจเรื่องนั้น ๆ ก็ตาม
วิจารณ์ทางลบ
เปรียบเปรยประมาณว่าหายใจยังผิด เพราะมองเห็นแต่สิ่งที่เป็นข้อด้อย ข้อบกพร่อง มากกว่าที่จะมองข้อดี ข้อเด่น ในตัวลูก
ไม่พูดด้วย
ด้วยท่าทีไม่พูดด้วยไม่ว่าจะเพราะโกรธเคือง ไม่พอใจ หรือมีทีท่าเหินห่างกับลูก ก็เป็นการทำร้ายเด็กรูปแบบหนึ่ง
ประเด็นสำคัญอีกประการ บนพื้นฐานที่ว่าการแสดงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องคำพูดและท่าทีจึงสำคัญมาก แม้พ่อแม่บางคนอาจไม่ได้บอกรัก แต่ด้วยท่าทีก็เป็นการแสดงออกที่ลูกสัมผัสได้ ตรงกันข้ามกับพ่อแม่ที่แม้จะบอกรักลูกทุกวัน แต่ดูเหมือนลูกกลับสัมผัสไม่ได้
มาใช้การสื่อสารเชิงบวกมาเป็นตัวช่วยในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวจะไม่ดีกว่าหรือ
ยิ่งพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งฮอร์โมน ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ก็อาจมีอารมณ์แปรปรวน อยากมีโลกส่วนตัว ขี้หงุดหงิดไปบ้าง ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าใจและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะปรับตัวและพยายามหาทางในการสื่อสารทางบวกให้เหมาะกับช่วงวัย เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขา เรียนรู้จักพื้นนิสัยของลูก ก็จะทำให้การสื่อสารของพ่อแม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม แต่ก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถรับมือได้จนกลายเป็นปัญหาและข้อขัดแย้งระหว่างกันได้
การใช้คำพูดหรือการสื่อสารของเรามีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนที่ได้รับฟังเสมอ สิ่งที่พูดออกไปโดยไม่ได้ผ่านการคิดหรือไตร่ตรอง ใช้แต่อารมณ์เป็นที่ตั้ง จะสร้างความเจ็บปวดภายในจิตใจของคนฟังอย่างไร การเลือกใช้คำพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถทำร้ายคนได้
ท่ามกลางสังคมที่เปราะบาง การแสดงความรัก ท่าทีที่เป็นมิตรจะเป็นเกราะกำบังให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นไปอย่างมั่นใจและมั่นคงทางอารมณ์มากกว่าเด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย หรือถูกกระทำความรุนแรงในทางใดทางหนึ่ง
คุณเป็นพ่อแมทีสื่อสารกับลูกแบบไหนก็จะได้ลูกแบบนั้น !