xs
xsm
sm
md
lg

อว.แจงการแก้ปัญหาพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่เหลื่อมล้ำ ชี้เป็นธรรมทุกด้านตามกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อว.แจงการแก้ปัญหาพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่เหลื่อมล้ำ แต่เป็นธรรมทุกด้าน ตามกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษาและมติ ครม.ทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานสถาบันอุดมศึกษาได้ก้าวหน้าและมั่นคงในวิชาชีพในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการเลื่อนตำแหน่งวิชาการได้มากกว่ารูปแบบเดิมเพิ่มอีกถึง 5 ด้าน
วันนี้ (21 มี.ค.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยกรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านให้ความเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยหลังจากที่มีการปฏิรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ว่า รัฐบาลได้บริหารจัดการอย่างดีไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวหา สอดคล้องกับการจัดโครงสร้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลตามสัญญาจ้าง โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการบริหารงานบุคคล บริหารสัญญาจ้าง รวมถึงบริหารวงเงินตามที่ได้รับจัดสรร ซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการออกระเบียบ ข้อบังคับการบริหารงานบุคคล รวมถึงการกำหนดอัตราเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีความคล่องตัว โดยเฉพาะการประเมินผลบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งจะต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในด้านการจัดการศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ศ. 2562

รมว.อว.กล่าวต่อว่า การปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษา ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประเมินผลและการเติบโตในหน้าที่ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามีความมั่นคงและมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น อว. ได้ออกประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564” ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้พนักงานสถาบันอุดมศึกษา สามารถ ที่จะทำงานด้านวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่งวิชาการได้มากกว่ารูปแบบเดิมที่อาศัยตำราและงานวิจัย โดยมีรูปแบบ การขอตำแหน่งวิชาการเพิ่มขึ้นในอีก 5 ด้าน ซึ่งแนวทางนี้จะส่งเสริมให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้ทำงานวิชาการหลากหลาย มีการเติบโตในตำแหน่งวิชาการที่มีความเป็นธรรมและมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า อว.ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ รมว.อว.กำหนด และเพื่อเป็นการสร้างระบบธรรมาภิบาลในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความเป็นธรรมแก่พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 โดยมีแนวปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่เป็นอิสระ โปร่งใสและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงการบริหารงานบุคคลดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้เกิดความมั่นใจสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

“มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 วันที่ 31 สิงหาคม 2543 วันที่ 29 สิงหาคม 2543 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบในหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ ซึ่งเรียกบุคลากรดังกล่าวว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” โดยสำนักงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างบุคคล รวมสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล ตามสัญญาจ้าง สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่ และรับผิดชอบในการบริหารงานบุคคล บริหารสัญญาจ้าง รวมถึงบริหารวงเงินตามที่ได้รับจัดสรร ซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษา ต้องมีการออกระเบียบ ข้อบังคับการบริหารงานบุคคล รวมถึง อัตราเงินเดือน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ในการประเมินผลบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา ที่กำหนดไว้ในมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ศ. 2562 คือ การจัดการศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด” ปลัด อว.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น