xs
xsm
sm
md
lg

‘รับน้อง’ บทเรียนซ้ำซากของสังคมไทย / ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องรับน้องในบ้านเราแล้วมีผู้เสียชีวิต เชื่อว่าผู้คนในสังคมจะต้องอุทานแทบจะทันทีว่า “อีกแล้ว” เพราะมันเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นแทบทุกปี ครั้นจะบอกว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มีการเว้นวรรคเรื่องข่าวรับน้องโหดเป็นเรื่องดีก็คงไม่ใช่ !

และแน่นอนว่าข่าวการรับน้องโหดแล้วมีเยาวชนเสียชีวิต เป็นข่าวที่ทำให้หัวอกคนเป็นพ่อแม่แทบใจสลายทุกคน เพราะใครจะไปคิดว่าการเริ่มชีวิตใหม่ในสถาบันการศึกษาแห่งใหม่ รอยยิ้มของการเป็นเฟรชชี่ของลูกจะจบลงด้วยความตายและกลายมาเป็นคราบน้ำตาของครอบครัว

ล่าสุดกรณีของ “น้องเปรม” อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เสียชีวิตจากการรับน้องใหม่จากกลุ่มรุ่นพี่ เมื่อคืนวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเพื่อนของน้องยอมรับว่า รุ่นน้องทุกคนถูกต่อยที่บริเวณหน้าอก และท้อง ซึ่งเป็นเหตุให้น้องเปรมล้มฟุบไปและเสียชีวิตในที่สุด

จากนี้ไปก็พอจะคาดเดาได้ว่า จะมีแถลงการณ์จากสถาบันการศึกษาในการขอโทษที่ปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นการดำเนินการส่วนตัวของกลุ่มนักศึกษาไม่ใช่นโยบายของมหาวิทยาลัย ใช่หรือไม่ !

ทั้งที่กิจกรรมเฟรชชี่หรือกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัยที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์มีอยู่จำนวนมาก เน้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นเดียวกันและรุ่นพี่ได้ดี และใครใคร่เข้าร่วมก็ร่วม ใครไม่ใคร่ร่วมก็ไม่บังคับ ซึ่งช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมสร้างสรรค์ในหลายมหาวิทยาลัยต้องงดไป เพราะไม่สามารถรวมตัวกันได้ ทำให้รุ่นพี่หลายแห่งต้องพยายามหาทางทำกิจกรรมหรือรู้จักรุ่นน้องในรูปแบบอื่น ๆ ที่สร้างสรรค์ ก็มีมากมาย

แต่การรับน้องแบบไม่สร้างสรรค์ก็มีให้เห็นทุกปีเช่นกัน กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายคุกคามทางเพศ ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งล้วนสร้างบาดแผลให้กับรุ่นน้องทั้งร่างกายและจิตใจ และที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือการเสียชีวิต ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในรั้วสถาบันการศึกษาและไม่ควรจะเกิดขึ้นจากคนที่ไม่รู้จักกันแต่อ้างตัวว่าเป็นรุ่นพี่

และเราก็ยังวนเวียนกับข่าวเรื่องรุ่นน้องถูกรุ่นพี่ทำร้ายในกิจกรรม “รับน้อง” ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ แล้วต้องมาคอยลุ้นว่าปีต่อ ๆ ไป จะมีใครเป็นเหยื่อของการรับน้องโหดอีกกระนั้นหรือ

สาเหตุใหญ่ที่รุ่นน้องมักจะเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องประเภทนี้ เพราะต้องการการยอมรับจากรุ่นพี่ ไม่อยากถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่เข้าพวก จึงยอมโอนอ่อนให้กับรุ่นพี่ ไม่กล้าร้องเรียนเมื่อถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากกิจกรรมนี้ เพราะหลายสถาบันรุ่นพี่มักถูกปลูกฝังว่ากิจกรรมรับน้องถือเป็นระบบโซตัส ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งทอดการจัดกิจกรรมจากนักศึกษารุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ให้เคารพรุ่นพี่ จึงยอมให้รุ่นพี่กระทำการใด ๆ ได้โดยไม่สนใจว่าอาจจะไม่เหมาะสมหรืออาจเกิดความสูญเสียในภายหลังได้

จำได้ว่าเมื่อครั้งที่ลูกชายเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ก็มีกิจกรรมรับน้องเหมือนกัน รุ่นพี่พารุ่นน้องไปเยี่ยมชมในสถาบันการศึกษา และมีการนัดไปทัศนศึกษาต่างเมือง ซึ่งก็เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สร้างความประทับใจให้ลูกชาย และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ทำให้รู้จักกันได้ดี

ขณะที่มหาวิทยาลัยประเทศเกาหลี ก็จะมีการสังสรรค์พบปะพี่น้องในคณะหรือในชมรม ถือเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ในชีวิตรั้วมหาวิทยาลัย เรียกว่า MT หรือ Membership Training เป็นการรวมตัวกันของรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะจัดทริประยะเวลาสองวันหนึ่งคืน ไปทำกิจกรรมชานเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมกินหมูย่างร่วมกัน หลังจากที่กินเสร็จ ก็จะมีการเล่นเกมร่วมกัน

ส่วนในประเทศอื่น ๆ ก็มีกิจกรรมรับน้องเช่นกัน ส่วนใหญ่ก็เพื่อเป้าหมายเป็นการต้อนรับนักศึกษาใหม่ แต่จะเน้นเรื่องสายสัมพันธ์ สร้างระบบคุณค่าร่วมกัน และมีการทำกิจกรรมด้วยกัน จะมีการพาชมมหาวิทยาลัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย รวมถึงได้รู้จักเพื่อนใหม่ในรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ในคณะ

สรุปก็คือ เน้นการรับน้องที่สร้างสรรค์ มากกว่าจะใช้ระบบโซตัส

จะว่าไปแล้วเรื่องกิจกรรมรับน้อง ถ้าทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถรับประกันเรื่องความปลอดภัยจากกิจกรรมรับน้องได้ ก็ไม่ควรมีกิจกรรมนี้ และต้องไม่ให้มีการจัดกิจกรรมรับน้องกันเองแบบจริงจัง ไม่ใช่หลับตาข้างนึง หรือถ้ามีก็ต้องมีวิธีในการสอดส่องดูแลที่เหมาะสมและปลอดภัยให้ได้

ขณะเดียวกันสิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนส่งลูกไปร่วมกิจกรรมรับน้องที่สุดท้ายไม่รู้ว่าจะเป็นกิจกรรมลักษณะไหน ก็มีข้อคำนึงที่ควรพูดคุยกับลูกเบื้องต้น
-มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมรับน้อง หรือนักศึกษารุ่นพี่จัดกันเอง หรือรุ่นพี่ที่จบไปแล้วเป็นผู้จัดกิจกรรม

-สถานที่จัดกิจกรรมที่ไหน มีรายละเอียดอะไรบ้าง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรไปส่งถึงสถานที่ อย่างน้อยก็ได้เห็นหน้าค่าตา รู้จักผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรมบ้าง

-ต้องไม่ให้ใครมาลิดรอนหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

-บอกลูกว่าถ้ามีกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมสามารถปฏิเสธได้ และไม่มีใครสามารถบังคับให้ทำอะไรที่ไม่อยากทำได้

-สามารถให้ลูกโทรหาหรือส่งข้อความถึงพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดได้ทุกเมื่อ หากเห็นว่าไม่ปลอดภัยหรือไม่เหมาะสม

-การรับน้องไม่สร้างสรรค์ หรือถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกบังคับให้เข้าร่วม หรือข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับรุ่นพี่ได้ มีโทษถึงจำคุกและมีความผิดทางอาญา

ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตจากการรับน้อง และ “รุ่นน้อง” ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของ “รุ่นพี่”

ที่สำคัญสถาบันการศึกษาปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไปไม่ได้ !


กำลังโหลดความคิดเห็น