นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึง การบริการรักษาและการจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์กรณีผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) กลุ่มสีเขียว ที่ "ไม่มีอาการ" หรือ "อาการไม่รุนแรง" ต้องเข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยนอก ให้ได้รับการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ให้ได้รับการรักษาตามแนวทางที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งผู้ประกันตนที่ป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบประกันสังคมทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาล ดังนี้
1) ค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมรายการ ดังนี้
(1) ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน
(2) การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด-19 ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร หรือยา Favipiravir (เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือยารักษาตามอาการรวมค่าจัดส่ง เป็นต้น
(3) การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง
(4) การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
2) ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด-19 หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 300 บาทต่อราย สำหรับหน่วยบริการที่ให้การดูแลตามข้อ 1)
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลรัฐและเอกชนในระบบประกันสังคมทุกแห่ง จำนวนทั้งสิ้น 254 แห่ง ดำเนินการให้บริการกรณีดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 6 และกด 7 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ