xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง" ย้ำวัคซีนเข็ม 3 ช่วยสู้ "โอมิครอน" ต้องเร่งฉีดก่อนสงกรานต์ เด็กควรบูสต์ก่อนเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หมอยง" คาดสิ้น มี.ค. โอมิครอน BA.2 แทนที่ BA.1 วัคซีนเข็ม 3 ช่วยต่อสู้ แต่การฉีดยังน้อยไม่ถึง 30% แนะเร่งฉีดกระตุ้นให้มากที่สุดก่อนสงกรานต์ เผย "โมเดอร์นา" กระตุ้นภูมิสูงสุด ซิโนฟาร์มต่ำสุด ไม่พอบล็อกโอมิครอน ส่วนในเด็ก 2 เข็มก็ไม่พอ แนะฉีดบูสต์ก่อนเปิดเทอม

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการบรรยายทางวิชาการ “วัคซีนเข็มกระตุ้น : กุญแจต่อสู้การระบาดของโอมิครอน” ว่า การบรรยายทางวิชาการครั้งนี้ ตนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผลิตภัณฑ์วัคซีนยี่ห้อใด เป็นการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนถูกแทนที่เร็วมาก มี 2 สายพันธุ์ย่อยคือ BA.1 และ BA.2 ซึ่ง BA.2 ติดง่ายกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ภายในสิ้น มี.ค.นี้ BA.2 จะแทนที่ BA.1 แน่นอน วัคซีนเข็ม 3 จึงเป็นเข็มสำคัญในต่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอน แต่ขณะนี้บ้านเรามีประชากรได้รับเข็ม 3 ไม่ถึง 30% อยากเร่งฉีดกระตุ้นให้เร็วสุด เป็นไปได้ก่อนสงกรานต์อยากให้ทั้งหมดหรือมากที่สุดได้รับเข็ม 3 เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค ป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ส่วนเข็ม 4 ก็ควรเน้นฉีดให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง 608 ก่อน

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ผลการศึกษาเข็มกระตุ้นในเชื้อตายซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา พบว่าซิโนฟาร์มกระตุ้นภูมิได้ต่ำที่สุด แอนติบอดีไม่สูงพอที่จะบล็อกโอมิครอน ขณะที่โมเดอร์นากระตุ้นภูมิได้สูงสุด ตามด้วยไฟเซอร์และแอสตร้าฯ การฉีดเข็มกระตุ้นยิ่งห่างยิ่งดี เปรียบเทียบหลัง 3 เดือน กับ 6 เดือน พบว่า 6 เดือนจะได้ภูมิคุ้มกันสูงกว่า 3 เดือน แต่เนื่องจากโอมิครอนแพร่เร็ว ระหว่างรอถึง 6 เดือน แอนติบอดีจะต่ำลง โอกาสติดเชื้อระหว่างเข็มอาจเกิดขึ้นได้ ในทางปฏิบัติจึงอยากกระตุ้นให้เร็วขึ้น 3 เดือนก็กระตุ้นได้ โดยเฉพาะคนที่ฉีดเชื้อตายมาควรรีบฉีด

"ผลข้างเคียงหลังฉีดไฟเซอร์ระหว่างครึ่งโดสกับเต็มโดสไม่ต่างกัน แต่โมเดอร์นาเต็มโดสอาการข้างเคียงจะมากกว่า เช่น ปวดข้อ หนาวสั่น เวียนศรีษะ ขณะที่ผลภูมิต้านทานทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา ทั้งครึ่งและเต็มโดสไม่ต่างกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เต็มโดสในการฉีดบูสต์ โดยเฉพาะโมเดอร์นาฉีดครึ่งโดสจะลดอาการข้างเคียงลง ขณะที่ให้ผลประสิทธิภาพไม่ต่าง" ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ส่วนในเด็ก 2 เข็มก็ยังไม่พอ ตนพยากรณ์โรคโควิดเดือนมี.ค.นี้จะพีกสุด เม.ย.จะลดลงต่ำ และพีกใหม่เดือนมิ.ย. พิจารณาจากโรคทางเดินหายใจ โควิดจะเปลี่ยนเป็นโรคตามฤดูกาล ซึ่งโรคทางเดินหายใจจะพบมากในเดือนมิ.ย.เป็นช่วงฤดูฝน และเป็นช่วงเปิดเทอม เด็กต้องไปโรงเรียนหลังไม่ได้ไปมานาน อยากแนะนำให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ก่อนเปิดเทอม เด็กรับไฟเซอร์ 2 เข็มแล้ว หากกระตุ้นก็ควรเป็น mRNA ระยะห่างควรอยู่ที่ 4-6 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น