xs
xsm
sm
md
lg

10 ข้อเท็จจริงโต้เรียกร้องปลดล็อก "บุหรี่ไฟฟ้า"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่าย “คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ร่อนแถลงการณ์ตอบโต้ “10 ข้ออ้าง” ของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่เรียกร้องให้ไทยปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า แนะสังคมจับตาความสัมพันธ์กับธุรกิจบุหรี่

ศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำเครือข่าย “คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ชี้แจงกรณีเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้ายก 10 เหตุผล ไทยควรปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าว่า ล้วนเป็นข้ออ้างที่สอดคล้องกับจุดยืนของธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่คำนึงถึงแต่ผลกำไรมากกว่าสุขภาพคนไทย ดังนี้

1. ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกว่า 79 ประเทศเลือกที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายแทนที่จะแบน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีเพียง 32 ประเทศเท่านั้นที่แบนผลิตภัณฑ์ ENDS ขณะที่อีก 79 ประเทศมีมาตรการควบคุมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กำหนดอายุผู้ซื้อ ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ และอีก 84 ประเทศที่ยังไม่มีนโยบายใด ๆ

ข้อเท็จจริง 79 ประเทศที่มีมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า พบว่ากว่าครึ่ง (42 ประเทศ หรือ 53%) เป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่ในทางกลับกัน 32 ประเทศที่เลือกที่จะแบนบุหรี่ไฟฟ้า พบว่ามี 25 ประเทศหรือ 78% ที่เป็นประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง (รวมประเทศไทย) สอดคล้องกับสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ ที่ให้คำแนะนำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2563 ว่า นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าที่ดีที่สุดของประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางคือ การห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ให้คำแนะนำว่า “ในกรณีที่ประเทศใดยังไม่มีกม.ห้ามการผลิต การขาย และการจัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ใช้ตัวเลือกด้านกฎระเบียบที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในการปกป้องประชากรจากความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ป้องกันคำกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการพิสูจน์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและปกป้องการควบคุมยาสูบจากอุตสาหกรรมยาสูบ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับการห้ามผลิต จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามาก่อนควบคุมอย่างถูกกฎหมาย

2. ประชาชนควรมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายน้อยกว่า

ข้อเท็จจริง ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรสุขภาพต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น แพทยสภา แพทยสมาคม เครือข่ายวิชาชีพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

3. การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การจับกุมรีดไถ และขจัดธุรกิจใต้ดินที่มีมูลค่ามหาศาล

ข้อเท็จจริง ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การจับกุมรีดไถ และขจัดธุรกิจใต้ดิน ได้จริง ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษที่มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกว่าประเทศไทย ก็ยังประสบปัญหาการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายปรากฏเป็นข่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง

4. บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาของเด็กและเยาวชน ดูได้จากประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถขายได้ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่กลับไม่ได้เพิ่มขึ้น

ข้อเท็จจริง องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาในเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น 2 เท่า

5. ผลวิจัยจำนวนมากระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ เช่น กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษอนุญาตให้สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) สั่งจ่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้

ข้อเท็จจริง แพทย์เพื่อแคนาดาปลอดบุหรี่ (Physicians for a Smokefree Canada) สรุปรายงานไว้เมื่อ ก.พ. 2565 ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น มีเพียงประเทศอังกฤษที่สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกบุหรี่ แต่อีกอย่างน้อย 8 ประเทศที่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายและไม่แนะนำให้ใช้ในการช่วยเลิกบุหรี่

6. นิโคตินเป็นสารเสพติด แต่ไม่ได้เป็นตัวการหลักของโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายอื่น ๆ
ข้อเท็จจริง นิโคตินเป็นสารเสพติดอันตรายเทียบเท่าเฮโรอีน และยังทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำลายพัฒนาการของสมองในเด็กและเยาวชน โรคติดเชื้อ โรคระบบสืบพันธุ์ และยังพบว่านิโคตินทำให้เซลล์มะเร็งโตเร็วขึ้น
7. บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีกว่าวิธีการอื่นๆ เช่น สถาบันมะเร็งอังกฤษที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ดีกว่าการหักดิบถึง 60%

ข้อเท็จจริง งานวิจัยล่าสุดเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco Control ซึ่งเป็นวารสารแนวหน้าเรื่องยาสูบ เมื่อ ก.พ. 2565 ยืนยันประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ต่ำกว่าหมากฝรั่งนิโคตินและยาช่วยเลิกบุหรี่ นอกจากนี้ยังแย่กว่าการหักดิบ และที่สำคัญกว่า 60% ของคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ใหม่ภายหลัง

8. การห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถปกป้องเด็กและเยาวชนได้จริง เรายังคงพบการไลฟ์ขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยกลุ่มเยาวชน มีเพจเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์กว่า 4.8 ล้านแอคเค้าต์โดยที่ผู้ขายไม่สามารถตรวจสอบอายุผู้ซื้อได้เลย ตรงกันข้ามกับอังกฤษ นิวซีแลนด์ ที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอายุขั้นต่ำผู้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้

ข้อเท็จจริง ผลการสำรวจล่าสุดพบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำของเด็กอายุ 14-15 ปีของประเทศนิวซีแลนด์เพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2017-2021 จากน้อยกว่า 2% ในปี 2017 เพิ่มเป็น 9.6% ในปี 2021 แสดงว่าการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าในนิวซีแลนด์เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนอาจจะไม่ได้ผลจริง

9. บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายช่วยเปิดโอกาสให้กับเกษตรชาวไร่ยาสูบของไทย หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะทำให้ทั้งการยาสูบฯ และเกษตรกรมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้สูบบุหรี่มากขึ้น

ข้อเท็จจริง ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย การยาสูบฯ และเกษตรกรชาวไร่ยาสูบจะได้ประโยชน์ เพราะการลงทุนผลิตบุหรี่ไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนสูง กรณีของบริษัทฟิลลิป มอร์ริสต้องลงทุนในการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนสูงถึง 3 พันล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท

10. เพราะชีวิตคนไทยทุกคนมีค่า นโยบายด้านสาธารณสุขที่ดีจึงต้องตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น อย.ของสหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ที่ออกกฎหมายชัดเจนเพื่อควบคุมการขายบุหรี่ไฟฟ้า ต่างจากไทยที่มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

ข้อเท็จจริง เพราะชีวิตคนไทยทุกคนมีค่า การพิจารณานโยบายด้านสาธารณสุขจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ตั้งอยู่ในบริบทของประเทศ โดยต้องพิจารณาทั้งประโยชน์และโทษทั้งต่อตัวผู้สูบ และคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ศ.ดร.นันทวรรณ ยังได้ตั้งข้อสังเกตและให้สังคมจับตามองว่าเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่ออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้มีความสัมพันธ์กับธุรกิจบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ เพราะมีหลักฐานพบว่าเครือข่ายนี้เป็นสมาชิกองค์กรหนึ่งซึ่งรับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ที่ก่อตั้งโดยบริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งหากมีความสัมพันธ์กันจริง ข้อมูลที่เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้านำมาอ้างไม่ควรถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบเพราะเป็นการขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกและได้ร่วมลงสัตยาบันเอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น