xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นขยะติดเชื้อ "โควิด" พุ่งสูงสุด เม.ย. เพิ่มอีก 11 เตาเผากำจัดได้ 1.5 พันตัน/วัน เปิดช่องโรงงานเอามาทำเป็นเชื้อเพลิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ห่วงขยะติดเชื้อจากโควิดพุ่งวันละ 789 ตัน คาด เม.ย.อาจเพิ่มขึ้นอีก ระบบกำจัดรับได้แค่ครึ่งเดียว ทำยะติดเชื้อตกค้างอื้อ กรมอนามัยจับมือกรมโรงงาน ท้องถิ่นเพิ่มเตาเผา 11 แห่ง ช่วยกำจัดได้ 1.5 พันตันต่อวัน พร้อมเปิดช่องโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้า เอามาเผาทำลายเป็นเชื้อเพลิง

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการบริหารจัดการและแนวปฏิบัติในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อภายใต้การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มีการดูแลตัวเองที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) รวมถึงการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และหน้ากากอนามัยที่ใส่แล้ว ส่งผลให้มีปริมาณขยะติดเชื้อจากโควิดเพิ่มมากขึ้น คาดว่า เม.ย.นี้จะมีขยะมากที่สุด เฉลี่ย 789 ตัน/วัน ขณะที่ศักยภาพระบบการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อภาพรวมประเทศอยู่ที่ 342.3 ตัน/วัน ทำให้เกิดขยะติดเชื้อตกค้างในหลายพื้นที่ กรมอนามัยจึงประสานความร่วมมือกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาลนครนนทบุรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำจัดขยะติดเชื้อจากโควิด ทำให้ขณะนี้มีสถานที่กำจัดขยะเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่ง กำจัดได้ 1,189 ตันต่อวัน รวมกับระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเดิม ทำให้กำจัดขยะติดเชื้อได้ 1,532 ตันต่อวัน เพียงพอต่อการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นในภาพรวม

"ไม่แนะนำให้ประชาชนใช้วิธีฝังกลบหรือเผาเอง ขอให้คัดแยกและนำส่งเทศบาลไปกำจัดอย่างถูกต้อง ส่วนบางชุมชนที่จะเผาในเตาเผาศพ หากเป็นประเภท 2 เตาสามารถทำได้เป็นครั้งคราว แต่ต้องทำความเข้าใจกับชุมชนให้ดี เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อด้วย อย่างไรก็ตาม เตาเผาศพไม่ได้ออกแบบมาใช้เพื่อการเผาขยะ และไม่ได้มีการควบคุมอุณหภูมิแบบเดียวกัน" นพ.อรรถพลกล่าว


สำหรับการคัดแยกขยะมี 2 ส่วน คือ 1.มูลฝอยที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด 2.มูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) และชุดตรวจ ATK (ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยด ไม้ Swap) เป็นต้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ให้แยกเป็นมูลฝอยติดเชื้อ เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรค ส่วนการกำจัด แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1.ในพื้นที่หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมแล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ก่อนนำมูลฝอยติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้อง 2. พื้นที่ที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ให้ทำลายเชื้อก่อนนำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป

นายภัทรพล ลิ้มภักดี ผอ.กองบริหารงานอนุญาตโรงงาน 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ให้มีการนำขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโควิดมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เป็นการชั่วคราว เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานกำจัดขยะเฉพาะ รวมกำลังการกำจัดขยะติดเชื้อมากถึง 750 ตันต่อวัน จากข้อมูลสรุปจนถึง ม.ค.ที่ผ่านมา มีการกำจัดขยะติดเชื้อจากโควิดแล้ว 9,235.29 ตัน ถือว่าช่วยบรรเทาปัญหาขยะติดเชื้อจากโควิดได้จำนวนมาก ทั้งนี้ โรงงานที่จะเข้ามาร่วมจะต้องสามารถทำลายมูลฝอยติดเชื้อได้ด้วยความร้อน 760 องศาเซลเซียส และทำลายอากาศเสียด้วยความร้อนในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส สามารถควบคุมอากาศที่ปล่อยออกมาได้ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

นายวิศิษฐ์ ประยูรสวัสดิ์เดช รองปลัดเทศบาลนครนนทบุรี กล่าวว่า จ.นนทบุรีเป็นเมืองขนาดใหญ่มีขยะติดเชื้อจากโควิดมาจากสถานที่กักตัวทางเลือก เรือนจำ ศูนย์พักคอย รวมวันละ 1 ตัน นอกจากนี้ ยังมีขยะติดเชื้อจาก HI/CI เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 กิโลกรัม จึงประสานหน่วยงานกำจัดขยะเพื่อขอรถมาเก็บขยะติดเชื้อจากโควิดเฉพาะ 4 คัน และของดเว้นค่าจัดเก็บและงดเว้นค่าทำลายขยะติดเชื้อด้วย ดังนั้นจังหวัดอื่นสามารถประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อของดเว้นค่าธรรมเนียมจัดเก็บและค่าทำเนียมทำลายขยะได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือแม้ว่าจะมีการจัดตั้งถังขยะสีแดงให้ แต่ประชาชนยังเอาขยะทั่วไปมาทิ้ง สะท้อนว่ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องคัดแยกขยะ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาขยะติดเชื้อจากโควิดจะไม่มีวันจบ


กำลังโหลดความคิดเห็น