xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้ "โควิด" ไทยยังขาขึ้น อาจสูงสุด 5 หมื่นรายหลังสงกรานต์ หรือถึงแสนหากไม่เข้มพอ คาดลดลงช่วง พ.ค.-มิ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยไทยยังติด "โควิด" ขาขึ้น ไม่เป็นไปตามเส้นสีเขียวที่ดีที่สุดแล้ว แต่จะอยู่ในเส้นสีเหลืองอาจติดเชื้อสูงสุดวันละ 5 หมื่นรายในช่วงหลังสงกรานต์ หากไม่เข้มงวดอาจติดเพิ่ม 2 เท่าเป็นแสนราย แต่เชื่อโอมิครอนระบาดลดลงช่วง พ.ค.-มิ.ย. ส่วนป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจจะเจอสูงสุดช่วง พ.ค. เผย 3 ข้อแตกต่างโอมิครอนปีนี้กับเดลตาปีก่อน แนะเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิ

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 มี.ค.2565 สถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 14 วัน วันนี้อยู่ที่ 21,966 ราย แม้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องรักษาใน รพ.เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ยังมีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการเพิ่มของผู้เสียชีวิต

นพ.โสภณกล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่ขณะนี้อยู่ในระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเส้นคาดการณ์สีเขียวน่าจะไม่เป็นจริงแล้ว ถ้าดูจากอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีโอกาสเป็นเส้นสีเหลืองหรือแดง โดยเส้นเลืองผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มสูงสุดประมาณ 5 หมื่นกว่ารายต่อวันในช่วงหลังสงกรานต์ คือ วันที่ 19 เม.ย.2565 และหากไม่คงมาตรการที่เข้มงวด เช่น การสวมหน้ากาก ป้องกันตนเองเข้มงวด และไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจมีโอกาสมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวันขึ้นไป 2 เท่า จากประสบการณ์ของประชาชน เราสามารถร่วมมือร่วมใจได้ด้วยการยกระดับมตรการป้องกันแพร่เชื้อ จะทำให้สถานการณ์จริงอยู่ในเส้นคาดการณ์สีเหลืองหรือไม่เกินเส้นสีแดง ทั้งนี้ ช่วง พ.ค.-มิ.ย. น่าจะเป็นขาลงของการระบาดของโอมิครอนในประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงจริง เนื่องจากกำลังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจขึ้นไปเป็นฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้สูงสุดในเส้นสีแดงได้ ดังนั้น มาตรการป้องกันการติดเชื้อ การรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง จะเป็นสิ่งสำคัญช่วยให้อัตราเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินกว่าศักยภาพระบบรักษาพยาบาล คาดว่าจุดสูงสุดของการระบาดที่ทำให้เกิดผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ช่วงต้น พ.ค.2565 ซึ่งจะช้ากว่าการติดเชื้อรายใหม่สูงสุดประมาณ 2 สัปดาห์

นพ.โสภณกล่าวว่า การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนปีนี้ต่างจากสายพันธุ์เดลตาปีที่แล้ว 3 ประการ คือ 1.เชื้อโอมิครอนทำให้เกิดอาการรุนแรงในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าเดลตา 2.คนไทยรับวัคซีนเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น ทั้งวัยทำงานและวัยเรียน ซึ่งปีที่แล้วเราเริ่มฉีดจากผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน และ 3.เรามีความรู้ความเข้าใจการป้องกันดีขึ้นว่า ต้องป้องกันตนเองอย่างไร เช่น สวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงไปสถานที่เสี่ยงสูง การระบายอากาศช่วยลดโอกาสรับเชื้อในสิ่งแวดล้อม จัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น หากเราติดเชื้อช่วยให้ประเมินว่า เมื่อรับวัคซีนแล้ว ไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรัง ไม่เป็นเบาหวาน ความดัน หัวใจ ก็น่าจะดูแลตนเองเบื้องต้น ไปตรวจรักษาตามนโยบายดูแลแบบผู้ป่วยนอก "เจอจ่ายจบ" แต่ต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นด้วย แพทย์จะพิจารณาประวัติการฉีดวัคซีน ลักษณะอาการ ประวัติโรคที่เป็นอยู่ ควรได้ยาชนิดใด ตั้งแต่ยารักษาตามอาการทั่วไป แบบที่ยังไม่ได้ให้ยาปฏิชีวนะ หรือพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรในระยะแรกสำหรับคนเสี่ยงน้อย หรือยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับการประเมินอาการและระดับความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นผู้มีอาการรุนแรงได้

"สายพันธุ์โอมิครอนโอกาสติดง่ายกว่าเดลตา โดยวัยทำงานและวัยเรียน มีการติดเชื้อเยอะ บางครอบครัว ติดทั้งบ้าน ต่างจากสมัยสายพันธุ์เดลตาที่อาจจะติดประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ขณะนี้เราฉีดวัคซีนสูง ทั้งประเทศ 77% เฉพาะผู้สูงอายุ 83% ช่วยป้องกันการป่วยหนักและอาการรุนแรง แม้รับวัคซีนแล้วก็ต้องป้องกันตนเอง ลดโอกาสเสี่ยงนำเชื้อไปให้คนอื่น โดยหากรับ 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ให้รับเข็มกระตุ้นจะเพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โอมิครอนดีขึ้น โอกาสเสี่ยงจะลดลงไปอีก" นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวว่า ส่วนโอกาสติดเชื้อซ้ำนั้น การติดเชื้อและฉีดวัคซีนช่วง 3 เดือนแรกภูมิคุ้มกันยังสูงอยู่ โอกาสติดเชื้อซ้ำไม่มาก แต่เวลาเราป้องกันโรค เราไม่ได้ป้องกันเชื้อโควิดอย่างเดียว เราไม่รู้ว่ามีสายพันธุ์อื่นในพื้นที่หรือไม่ แม้ว่าติดเชื้อมาแล้วก็ต้องป้องกันตนเองเต็มที่ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงรับเชื้ออื่นๆ และสายพันธุ์อื่น ถ้าเราไม่ติดเชื้อคนใกล้ชิดในครอบครัวและที่ทำงานก็ปลอดภัยด้วย จะไปคิดว่าเราเคยติดมาแล้วมีภูมิรับเชื้ออีกไม่เป็นไรนั้น อาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง แม้เราไม่เสี่ยงหรือเสี่ยงน้อย แต่คนอื่นก็ยังมาเสี่ยงต่อจากเราได้ ส่วนที่จะติดซ้ำในช่วง 2 สัปดาห์ จริงๆ อาจเป็นเชื้อที่ยังไม่หมดในร่างกาย หากจะติดเชื้อซ้ำจะนึกถึงช่วงเวลา 3-4 เดือนขึ้นไป

เมื่อถามถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิดไปรับบริการผู้ป่วยนอก "เจอจ่ายจบ" แต่บาง รพ.รับเพียงวันละ 50-150 รายเท่านั้น นพ.โสภณกล่าวว่า เราเปิดบริการผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการ และไม่มีภาวะเสี่ยง เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น แต่หัวใจสำคัญคือกระจายไปรักษาใน รพ.ที่บริการได้ เพื่อไม่ต้องแออัดไปรอ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงแพร่เชื้อรับเชื้อเพิ่ม ซึ่ง สธ.ให้ทุก รพ.ใน 14 จังหวัดรอบ กทม.เปิดบริการเพิ่ม ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ รพ.สต. รพ.ระดับอำเภอ ก็สามารถกระจายไปตรวจรักษาในสถานที่ รพ.ใกล้บ้านได้ ไม่ต้องไปแออัดในที่เดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น