กรมสุขภาพจิตพบการระบาด "โควิด" ทำคนไทยมีแนวโน้มเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า ซึมเศร้าสูงขึ้น 4.8 เท่า ฆ่าตัวตายสูงขึ้น 5.9 เท่า หมดไฟสูงขึ้น 9.7 เท่า คนพลังใจลดลงมากถึง 80% จัด 5 รพ.จิตเวชดูแลผู้ป่วยจิตเชติดโควิดไม่มีอาการหรืออาการน้อยแบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ"
เดินหน้าสนับสนุนนโยบาย“เจอ แจก จบ”ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้บริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 แต่อยู่ในกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงทางกาย ให้เข้าถึงยารักษาตามอาการ เริ่มนำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน จากการพยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่มาใช้บริการผ่านช่องทาง www.วัดใจ.com โดยเปรียบเทียบสถิติ ก.พ. กับ ค่าพยากรณ์สถิติของ ม๊งค. 2565 พบแนวโน้มความเสี่ยงโดยรวมสูงมากขึ้น คือ ประชาชนอาจมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า ซึมเศร้าสูงขึ้น 4.8 เท่า ฆ่าตัวตายสูงขึ้น 5.9 เท่า และภาวะหมดไฟสูงถึง 9.7 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนมีพลังใจลดลง พบมากขึ้นกว่า 80% กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่จำเป็นต้องเร่งป้องกัน แก้ไข และดูแลเยียวยาจิตใจทุกกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ปัญหาทางสุขภาพจิตที่มากขึ้นส่วนหนึ่งคาดว่า เป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กระจายไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว จนสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายช่วยลดความตระหนกกังวลและสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในสถานการณ์โควิด ด้วยนโยบาย “เจอ แจก จบ” ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมสุขภาพจิตจะเริ่มให้บริการแบบผู้ป่วยนอกเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ตรวจพบเชื้อโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาตามระดับอาการของโรค ใน 3 สูตร ได้แก่
1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร และ 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก หลังจากนั้นจะแยกตัวกักที่บ้านและมีการติดตามโดยเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะนำร่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชตามนโยบาย “เจอ แจก จบ” ใน รพ.จิตเวช 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และสถาบันราชานุกูล โดยจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในสังกัดกรมสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต