เมื่อวันที่ 22 ก.พ. มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กองบริหารงานวิจัยจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “กัญชา…ความจริงต้องรู้” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน พร้อมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานเสวนา โดยการเสวนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรจิรา ปริวัชรากุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจารย์ แพทย์หญิงจริยา ภูดิศชินภัทร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล สื่อมวลชน ผู้สนใจ เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์
มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายการใช้ประโยชน์สารสกัดจากกัญชาในด้านการแพทย์และสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการแพทย์และสุขภาพ ควรมีบทบาทในการให้ความรู้ ความจริงเกี่ยวกับประโยชน์และโทษ ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ข้อมูลจากงานวิจัย กรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้สารสกัดกัญชาอย่างเหมาะสม สำหรับประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถใช้สารสกัดกัญชาได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงมุมมองในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง การออกฤทธิ์ของกัญชา: ประโยชน์และโทษ ว่า การออกฤทธิ์ของสาร THC (tetrahydrocannabinol) มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้เกิดประสาทหลอน ความจำแย่ลง ส่วนการออกฤทธิ์ของสาร CBD (Cannabidiol) จะไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ควรระวังเรื่องยาตีกลับ เพราะจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่ใช้ทำลายยาอื่น ซึ่งผลจากการใช้กัญชาในระยะยาว จะมีผลต่อการพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะหากเริ่มใช้ตั้งแต่อายุน้อย จะทำให้เกิด สติปัญญาบกพร่อง ผลการเรียนตกต่ำ และหากติดกัญชาไปแล้ว จะยิ่งส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงของโรคจิตเรื้อรัง เกิดอาการหลอดเลือดสมองหดตัวแบบผันกลับ ผลต่อระบบไหลเวียนเลือด เมื่อใช้เป็นครั้งคราวจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ใจสั่น หลอดเลือดขยาย ความดันต่ำ และเมื่อใช้เป็นเวลานาน หัวใจจะเต้นช้าลง หลอดเลือดขยาย ความดันต่ำ ซึ่งผู้ที่ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร THC เป็นส่วนประกอบ คือ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือสตรีที่มีการวางแผนการตั้งครรภ์ ซึ่งสาร THC จะส่งผลกระทบให้กับผู้ที่มีกลุ่มโรคเหล่านี้ให้มีอาการแย่ลง โดยในปัจจุบัน กัญชาสามารถนำมาใช้ได้อย่างเสรี ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาและสถาบันทางการแพทย์ จะต้องมีหน้าที่ให้ความรู้อย่างถูกต้อง โดยใช้หลักฐานทางวิชาการนำเสนอข้อมูล เพื่อนำไปสู่การใช้อย่างถูกวิธีให้กับประชาชนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง กัญชากับมุมมองการใช้ทางการแพทย์ปัจจุบันและอนาคต ว่า ในทางการแพทย์กัญชามีประโยชน์ก็จริง แต่การใช้จะต้องมีการควบคุมจากแพทย์หรือเภสัชกร หากมีการใช้ในปริมาณที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะนำมาซึ่งโทษมากกว่าประโยชน์ ควรจะมีแหล่งผลิตที่ถูกต้อง ปลอดภัย มีการควบเรื่องการสกัด ต้องมีข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง รวมไปถึงจะต้องมีการให้ข้อมูล ให้ความรู้กับประชาชนอย่างถูกต้องด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึง ข้อบ่งใช้กัญชาทางการแพทย์เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน ว่า ในสาร THC (tetrahydrocannabinol) จะทำให้มีอาการ เมาเคลิ้ม ประสาทหลอน แต่จะช่วยในเรื่องของใช้สำหรับแก้อาเจียน ใช้ลดการปวด คลายกล้ามเนื้อ หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีการดื้อต่อสาร ทำให้ต้องเพิ่มขนาดที่ใช้ และสามารถติดได้ ส่วนสาร CBD (Cannabidiol) จะต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย สามารถใช้ลดปวดได้ ไม่มีฤทธิ์เสพติด แต่อาจจะทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ทางเดินอาหารอาจมีปัญหา ผู้ใช้ยาจะต้องรับทราบข้อมูลของสารทั้ง 2 ตัว ว่าสารไหนควรรักษาอาการใด สำหรับกัญชาทางการแพทย์ จะต้องมีการประเมินผู้ป่วย ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ปัญหายาตีกัน ความเสี่ยงการติดสารเสพติด และมีการทำความเข้าใจ กับผู้ป่วยและญาติ ว่าการออกฤทธิ์จะใช้เวลา ครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งแพทย์จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และรายงานเข้าระบบการใช้ยา ซึ่งจะต้องเน้นย้ำว่า สาร Cannabidiol มีทั้งประโยชน์และโทษ ควรเลือกศึกษาสารและขนาดให้ถูกต้อง และแยกคำว่า “การใช้ยา Cannabidiol ทางการแพทย์” จาก “การเสพกัญชา” ออกจากกัน การใช้ต้องมีความรู้ ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร ซึ่งหากใช้ไม่ถูกวิธีจะนำมาสู่การเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บ ซึ่งปัจจุบันมีการเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น เราจึงต้องเตรียมรับมือกับกัญชาอย่างรู้เท่ารู้ทันต่อไป
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพรจิรา ปริวัชรากุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง ฤทธิ์ของสารในกัญชาต่อระบบประสาทและจิตใจ ว่า ญาตินำผู้ป่วยมารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากมีอาการเห็นภาพหลอน ผวา ซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย ญาติแจ้งว่าให้ยาแผนปัจจุบันรักษาอาการป่วยปกติ แต่ผู้ป่วยมีอาการแปลกไปจึงพามาโรงพยาบาล และได้มารับทราบทีหลังว่า ผู้ป่วยได้แอบใช้กัญญาที่ได้จากคนรู้จัก โดยใช้ใบกัญชาสด 1 หยิบมือ ต้มกับน้ำดื่มทุกวันนาน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นแม้หยุดใช้กัญชา แต่อาการไม่กลับสู่ระดับเดิมอีก ผู้ป่วยยังมีช่วงที่เกิดอาการทางจิตเป็นระยะ การตัดสินใจแย่ลง อาการซึมเศร้าที่เคยสงบแล้ว กลับมากำเริบ แม้จะรักษาให้บรรเทาลง แต่ไม่มีช่วงที่กลับมาสดชื่นปกติอีกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ใช้กัญชาจะทำให้มีภาวะเมากัญชา มีอาการสติสัมปชัญญะผิดปกติ อารมณ์ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีอาการซึมเศร้า หรือครื้นเครงมากกว่าปกติ โรควิตกกังวลจากกัญชา มีอาการวิตกกังวลเกิดขึ้นระหว่างหรือไม่นานหลังจากเมาหรือถอนพิษกัญชา เช่น อาการหวาดหวั่น กังวล กลัว ระบบประสาทไวต่อการกระตุ้น โรคจิตจากกัญชา เช่น มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน ความคิดไม่เป็นระบบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กัญชาสามารถกระทบต่อความสามารถทางสมอง เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบจิตเวช และการฆ่าตัวตายได้ สำหรับผู้ประกอบการ ควรให้ข้อมูลสุขภาพกับผู้ที่บริโภค เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีเศรษฐกิจที่ดี บนพื้นฐานของสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีด้วย
อาจารย์ แพทย์หญิงจริยา ภูดิศชินภัทร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง กรณีศึกษาฤทธิ์ของสารในกัญชาในอาหารและอาการพิษจากการใช้กัญชา ว่า จากกรณีศึกษา ผู้ที่ประทานคุกกี้มีที่ปริมาณสาร THC อยู่ที่ 0.109 mg/g และสาร CBD อยู่ที่ 0.045 mg/g หลังจากรับประทานไป 1 ชั่วโมง คนที่หนึ่ง มีอาการมึนศีรษะ หัวใจเต้นแรง รู้สึกเท้าไม่ติดพื้น ตัวลอย เห็นตัวเองมีหลายคน รู้สึกเวลาผ่านไปเร็ว รู้สึกกึ่งหลับกึ่งตื่นตลอดเวลา เป็นอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง สุดท้ายต้องเข้าโรงพยาบาล และอีกสองคน มีอาการน้อยกว่าคนแรก มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ รู้สึกใจสั่น ซึ่งในคุกกี้ มีสาร THC อยู่เพียงร้อยละ 0.0109 เท่านั้น โดยจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ระบุว่า สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น สารสกัดดังต่อไปนี้ สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ จะเห็นได้ว่าคุกกี้ร้านนี้ มีปริมาณสาร THC น้อย แต่ทำให้คนไข้ มีผลกระทบทางด้านร่างกายด้วยเช่นกัน โดยในอนาคต หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการใช้สารที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรจะต้องมีการทำการวิจัย และศึกษาหาข้อมูล เพื่อหาจุดที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย มีประโยชน์ทางการแพทย์ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพของประชาชนในประเทศ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง มุมมองทางกฎหมายและโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้กัญชา ว่า สำหรับข้อควรระวังในการใช้กัญชา เมื่อหยุดเสพสามารถเกิดอาการถอนยาได้อย่างชัดเจน ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ อารมณ์ซึมเศร้า กระวนกระวาย คลื่นไส้ ปวดท้อง การรักษาภาวะเสพติดกัญชามีความยาก พอกับการรักษาภาวะติดยาบ้า ยาไอซ์ โคเคนและสุรา ซึ่งวัยรุ่นมีความเสี่ยงในการเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่ ผลโดยตรงของกัญชาต่อสุขภาพนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ เด็ก อาจเกิดภาวะพิษจากการกินโดยอุบัติเหตุ หรือเกินขนาด และผู้สูงอายุ อาจมีแนวโน้มการใช้มากขึ้นเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อาการปวด และอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะที่เกิดบ่อยอยู่แล้วในผู้สูงอายุ คือ พลัดตกหกล้ม หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน และการทำงาน ย่อมส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและการทำงาน เนื่องจากเมื่อมีการรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้มีการออกฤทธิ์ช้าและนาน ซึ่งความเสียหายไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้สารกัญชา แต่รวมไปถึงผู้อื่น ที่อาจจะได้รับความเสียหาย การบาดเจ็บ การรักษาพยาบาล อีกด้วย สำหรับคนที่ไม่เคยลอง แนะนำไม่ให้ลอง และควรศึกษาอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ว่ามีปริมาณสาร THC มากน้อยเพียงใด และหากต้องใช้ยาที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนทุกครั้ง