xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.จัด 6 ศูนย์สอบรับเด็กติดเชื้อ-เสี่ยงสูง สอบ TCAS65 ลงทะเบียน 7-19 มี.ค.ก่อนวันสอบ 24 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทปอ.จัด 6 สนามสอบพิเศษ TCAS65 รองรับเด็กติดโควิด-กลุ่มเสี่ยงสูง กระจาย 4 ภาค ลงทะเบียนตั้งแต่ 7 - 19 มี.ค. ก่อนวันสอบ 24 ชั่วโมง หากหายก่อนสอบเสร็จ กลับไปสนามสอบเดิมได้ทันที มีชื่ออยู่แล้ว คนคุมสอบสวม PPE ช่วงแจก-เก็บข้อสอบ ใช้วงจรปิดคุมแทน คาดมีเด็กติดเชื้อลงทะเบียน 730 คน ยันระบบไม่ล่ม ด้านจันทบุรีจัดสนามสอบพิเศษแยก แนะเดินทางรถยนต์ส่วนตัวไม่ได้ ให้แจ้งประสานพามาสอบ

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงกรณีการจัด "สนามสอบ” ป้องกันโควิดและสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สถานการณ์โควิดสัปดาห์นี้ยังพบติดเชื้อรายวันสูง 2 หมื่นกว่ารายต่อเนื่อง ต้องป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด โดยพบว่ากลุ่มเด็กอายุ 0-18 ปี ติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสัปดาห์แรกของ ม.ค. พบร้อยละ 12 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของ ม.ค.จนถึงปัจจุบัน สาเหตุการติดเชื้อ กลุ่มอายุ 0-9 ปีมักติดเชื้อในครอบครัว เด็กอายุ 15-19 ปี มักติดเชื้อนอกบ้านหรือในชุมชน และอายุ 10-14 ปีติดเชื้อในโรงเรียน ทั้งนี้ การติดเชื้ออาจสูงกว่านี้หากละเลยการป้องกันและมาตรการ หากเข้มมาตรการขั้นสูงสุดก็จะป้องกันโรคได้ทั้งเด็กและบุคคลในครอบครัว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยโพล กรณีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันโรคของกลุ่มเด็ก นักเรียน นักศึกษา อายุต่ำกว่า 24 ปี ตั้งแต่ ต.ค.2564 พบว่า มีพฤติกรรมสวมหน้ากากมากกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป แต่การล้างมือและเว้นระยะห่างยังน้อยและลดลง โดย ม.ค.ล้างมือร้อยละ 83 และเว้นระยะห่างร้อยละ 70.1 ช่วง ก.พ.ล้างมือลดลงเหลือร้อยละ 73.4 และเว้นระยะห่างลดเหลือร้อยละ 62.5 จึงต้องให้ความสำคัญ 2 เรื่องนี้มากขึ้น

"ช่วง มี.ค.เป็นฤดูกาลสอบ ทั้งสอบปลายภาค สอบเลื่อนชั้น และสอบเข้าสู่มหาวิทยาลัย มาตรการป้องกันโควิดจึงต้องดำเนินการต่อไป การจัดสอบ ทั้งตัวนักเรียน ผู้จัดสอบ ต้องปฏิบัติตามหลัก VUCA โดยรับวัคซีนตามกำหนด สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ล้างมือทุกครั้งเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของ สถานศึกษา สถานที่จัดสอบ ทำตามมาตรการ COVID Free Setting ทุกคนประเมินความเสี่ยงตนเอง และตรวจ ATK" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า การจัดสนามสอบสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด มีความร่วมมือของ 4 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการจัดสอบให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข โดยไม่แนะนำตรวจ ATK ทุกราย แต่ให้ตรวจรายที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงสูง ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์สอบตามความเหมาะสมอย่างน้อย 1 แห่ง อาจพิจารณาใช้พื้นที่แยกกักชุมชน (CI) หรือฮอสปิเทล เพื่อการจัดที่พัก จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ เน้นแยกของใช้ จัดอาหารกล่อง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน มีบริการรถรับส่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่ง กทม.และปริมณฑล ศธ. ทปอ. มูลนิธิ รพ.ราชวิถีจัดบริการรถแท็กซี่ฉุกเฉิน ส่วนจังหวัดอื่นๆ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร่วมกับผู้จัดสอบพิจารณาการจัดบริการรถ

ส่วนสถานที่จัดสอบให้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดพื้นที่แยกสอบระหว่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร จัดระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดการขยะติดเชื้อ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ด้านผู้คุมสอบปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ใช้เวลาในห้องสอบให้น้อยที่สุด วางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม ส่วนผู้เข้าสอบ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย รวมทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องตรวจสอบสถานที่สอบที่กำหนด ลงทะเบียนกับสถานที่สอบเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังเข้าสอบ งดพูดคุย เว้นระยะห่าง เดินทางไปสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือประสานหน่วยงานกรณีไม่มีรถ

"ก่อนสอบต้องยกการ์ดสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ทั้งตัวผู้เข้าสอบและผู้ปกครอง หากป้องกันความเสี่ยงโดยไม่ติดเชื้อจะเป็นสิ่งที่ดี และการติดเชื้อโควิดไม่รุนแรงจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตการศึกษาของนักเรียน" นพ.สราวุฒิ กล่าว


รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่า ทปอ.จัดสนามสอบ 213 แห่งทั่วประเทศ 77 จังหวัด สำหรับคนที่ไม่ติดเชื้อเข้าสอบได้ปกติ และจัดสนามสอบพิเศษสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มอาการสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยแยกออกจากสนามสอบปกติ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและติดเชื้อ โดยประสานมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบแต่ละภูมิภาค 6 แห่งจัดทำสนามสอบพิเศษ ได้แก่ ภาคกลาง กทม. คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต , ภาคเหนือ ม.แม่โจ้ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น และม.เทคโนโยลีสุรนารี และภาคใต้ คือ ม.วลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)

สำหรับผู้ติดเชื้อและสัมผสัสเสี่ยงสูงสามารถลงทะเบียนสนามสอบพิเศษได้ในระบบ student.mytcas.com ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.เป็นต้นไป จนถึงก่อนสอบวันสุดท้าย 1 วัน คือวันที่ 19 มี.ค. เนื่องจากสอบวันสุดท้ายคือวันที่ 20 มี.ค. แต่จะต้องลงทะเบียนก่อนสอบวิชานั้นๆ 24 ชั่วโมง เช่น สอบวันที่ 12 มี.ค. ต้องลงทะเบียนวันที่ 11 มี.ค. กรณีสอบวันที่ 13 มี.ค. ลงทะเบียนช้าสุดคือวันที่ 12 มี.ค. เป็นต้น โดยสามารถเลือกสนามที่ตนเองจะสอบได้ ซึ่งทั้ง 6 ศูนย์สอบเปิดรับผู้สอบทั่วประเทศ ส่วน จ.จันทบุรี จัดสนามสอบพิเศษอีกแห่งรับเฉพาะนักเรียนติดโควิดใน จ.จันทบุรีเท่านั้น สำหรับสนามสอบพิเศษของ มธ.ศูนย์รังสิตมีที่พักให้ผู้ป่วยโควิดด้วย ต้องระบุวันที่ต้องการเข้าพักและออกจากสนาม โดยเข้าพักวันแรกวันที่ 11 มี.ค. เพราะสอบช่วงแรกคือ วันที่ 12-15 มี.ค. และอีกช่วงคือ วันที่ 19-20 มี.ค.นี้

"เมื่อเข้าระบบแล้วให้เข้าร่วมไลน์กลุ่มโอเพนแชตเพื่อประสานข้อมูลกับสนามสอบ ซึ่งเรากังวลเรื่องการเดินทางมาก ขอแนะนำให้เดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวในระบบปิดซีลรูท มาครั้งเดียวไม่แวะระหว่างทาง และแจ้งวิธีเดินทางให้เจ้าหน้าที่ศูนย์สอบทราบด้วย เพื่อประสานงานหากมาด้วยตนเองไม่ได้ จะหาจิตอาสาไปรับน้องๆ หรือแม้กระทั่งใช้เครือข่ายจิตอาสาของ สธ.หรือมหาวิทยาลัยไปช่วยกันพามาที่ศูนย์สอบ" รศ.ดร.ชาลีกล่าว

รศ.ดร.ชาลี กล่าวอีกว่า ขอให้ผู้เข้าสอบแต่งกาย เตรียมอุปกรณ์ เหมือนการสอบปกติ และเตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับฉีดพ่นกระดาษคำตอบมาด้วย ซึ่งเราทดสอบกระดาษคำตอบแล้ว สามารถฉีดพ่นด้านหน้าด้านหลังได้ 6 ครั้ง ไม่เกิดความย่นและเสียหายกับกระดาษคำตอบ เพราะคุณภาพกระดาษสูงมาก จากนั้นส่งข้อสอบให้คณะกรรมการคุมสอบตามปกติ สำหรับห้องสอบเราจัดสถานที่และห้องน้ำแยกออกจากอาคารทั่วไป แยกห้องสอบระหว่างผู้ติดเชื้อและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง โดยห้องสอบมีขนาดใหญ่จัดระยะห่าง 2 เมตรทั้งแนวนอนและแนวตั้ง

ในส่วนของผู้คุมสอบ ทางศูนย์สอบเป็นผู้จัดหาหรือขอความร่วมมือสาธารณสุขช่วยจัดหา โดยจะใส่ชุด PPE เพื่อลดการสัมผัส โดยสวมชุด PPE 2 ครั้ง ช่วงแจกข้อสอบและเก็บข้อสอบ ช่วงที่เหลือจะใช้กล้องวงจรปิดในการคุมสอบแทน ส่วนที่บอกว่าให้ใช้เวลาในการสอบให้น้อยที่สุดนั้นอาจจะเข้าใจผิด เพราะเวลาในการสอบดำเนินการตามตารางปกติ เหมือนคนสอบปกติ แต่คนคุมสอบให้ลดการสัมผัสให้มากที่สุด และหลังการสอบเสร็จสิ้น 8 วันอาจมีการตรวจ ATK ในผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดสอบ ถ้าไม่มีอาการใดถือเป็นเรื่องปกติกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

ถามต่อว่าเด็กที่ติดเชื้อแล้วรักษาหายก่อนการสอบเสร็จสิ้น ต้องกลับไปสอบสนามปกติหรือยังอยู่ในสนามสอบพิเศษ รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่า เรานับตั้งแต่ตรวจ ATK พบบวกวันแรก เมื่อครบ 10 วัน สามารถกลับไปสอบสนามปกติได้ ไม่ต้องลงทะเบียนสนามสอบปกติแล้ว กลับไปสอบที่สนามได้เลย โดยแจ้งความจำนงว่าขอยกเลิกสนามสอบพิเศษ เนื่องจากมีรายชื่อที่ศูนย์สอบเดิมปกติอยู่แล้ว ไม่มีการถอนรายชื่อออก เพียงแต่เมื่อติดเชื้อแล้วลงทะเบียนจะมีการเพิ่มรายชื่อดับเบิลขึ้นมาที่สนามสอบพิเศษ และเตรียมข้อสอบดับเบิลขึ้นมาสำหรับคนที่ลงทะเบียนไว้ ทั้งนี้ ย้ำว่าไม่สามารถวอล์กอินมายังสนามสอบพิเศษได้ เพราะข้อสอบต้องเตรียมการให้ที่สนามสอบให้ทันเวลา กรณีพบเชื้อน้อยกว่า 24 ชั่วโมงก็ต้องขาดสอบ

ถามถึงกรณีป่วยโควิดต้องเข้ารักษา รพ. หรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินต่างๆ เท่ากับขาดสอบใช่หรือไม่ รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า คนที่เป็นไข้ มาไม่ไหว เข้า รพ. ผ่าตัดไส้ติ่ง เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ถือว่าขาดสอบทั้งหมด เป็นมาตรการที่ดำเนินการทุกปี ไม่เฉพาะปีนี้ที่เป็นโควิด

ถามว่าการลงทะเบียนจะมีปัญหาเรื่องระบบล่มหรือไม่ รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า ระบบลงทะเบียนไม่น่ามีปัญหา เพราะระบบ mytcas.com มีแบนด์วิชสูงมาก และการลงทะเบียนไม่ได้มีจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนคน เราคาดการณ์ไว้ว่าจะมีลงทะเบียนทั่วประเทศประมาณ 730 คน ซึ่งคิดจากประชากรกลุ่ม 18 ปี ที่มีอัตราติดเชื้อ 0.5% โดยเรามีผู้เข้าสอบ TCAS65 ประมาณ 183,000 คน แต่หากมีผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถขยายศักยภาพสนามสอบเพิ่มขึ้นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น