การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอนทั่วโลกระลอกใหม่ขณะนี้ ดูเหมือนว่า “เด็ก” จะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะกลุ่ม “เด็กเล็ก” เพราะนอกจากมีความเสี่ยงประเด็นเรื่องความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังมีความเสี่ยงประเด็นเรื่องพัฒนาการที่ช้าลงด้วย
ล่าสุดในประเทศญี่ปุ่นมีเด็กจำนวนมากติดเชื้อ เนื่องจากเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังไม่สามารถรับวัคซีนได้ คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นจึงเสนอให้เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ถูกกุมารแพทย์ทักท้วงและบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้เด็กหายใจลำบาก เนื่องจากระบบหายใจของเด็กยังไม่แข็งแรงพอ และเด็กบางคนยังไม่สามารถถอดหน้ากากเองได้เมื่อรู้สึกอึดอัด เป็นห่วงว่าจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
สุดท้ายรัฐบาลญี่ปุ่นยอมถอนข้อเสนอนี้ไป
เนื่องจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ของญี่ปุ่นระบุว่ามีผลการศึกษาพบว่าการใส่หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุ 2 ปี ไม่เพียงส่งผลต่อระบบหายใจ แต่ยังมีผลต่อพัฒนาการของเด็กด้วย เพราะเด็กจะเรียนรู้การสื่อสารผ่านการมองการเคลื่อนไหวของปาก การใส่หน้ากากอนามัยจะปิดบังรูปปาก และการออกเสียงผ่านหน้ากากอนามัยยังทำให้เสียงที่ได้ยินเพี้ยน ส่งผลต่อการออกเสียงเวลาที่เด็กเรียนรู้เรื่องภาษา
นอกจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัยส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก เพราะขัดขวางการเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้า ตา จมูก และปาก และการสื่อสารทางอารมณ์ที่ชัดเจน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ของเด็กด้วย
นับเป็นการตอกย้ำอีกครั้งเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งมีข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 วัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย กับการพัฒนาการของเด็ก” ระบุว่า ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หรือ ภาวะปกติต่อไป (next normal) การใส่หน้ากากอนามัยเป็นผลดีในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในระบบทางเดินหายใจ ไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 เท่านั้น แม้กระทั่งวัณโรคที่เป็นปัญหาในประเทศไทย
ในขณะเดียวกันในช่วงเด็กกำลังพัฒนา สิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะเด็กเล็ก จะต้องมีการเรียนรู้ทางด้านภาษา โดยเฉพาะการพูดและการฟัง ในการพูด ถ้ามีหน้ากากอนามัย ก็อาจจะทำให้การพูดลำบากกว่าปกติ การสะกดเสียงต่าง ๆ และในการฟัง การเรียนรู้ จะมีทั้ง ภาษาพูดและภาษาท่าทาง (verbal และ nonverbal) ในภาษาท่าทาง การฟังเสียงพูดเด็ก จะสังเกตริมฝีปาก สีหน้าและจะมีการเข้าใจความหมายที่พูดได้เพิ่มขึ้น การใส่หน้ากากอนามัย ก็อาจจะมีผลในการปิดกั้นพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาพูด และภาษาท่าทางของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก
โดยสรุปเด็กเล็กก็ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย
ขณะที่กรมอนามัยรายงานสถานการณ์ล่าสุดตัวเลข "เด็กเล็ก" ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ตัวเลขของเด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ ในช่วงที่ผ่านมามีการติดเชื้อสูงตามกลุ่มวัยอื่น ๆ โดยช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่ามีการติดเชื้อสูงถึง 6,000 กว่าราย
หากดูการติดเชื้อในรอบล่าสุดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ตั้งแต่เดือนมกราคม จะพบว่าเด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อเพียงสัปดาห์ละพันกว่าราย จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 2-3 พันราย แต่เมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่มีการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ไทยมีผู้ป่วยสะสมในเด็กกลุ่มนี้แล้ว 107,059 ราย หรือคิดเป็น 5 % ของการติดเชื้อทั้งหมด และมีการเสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ขณะที่สาเหตุการติดเชื้อของ "เด็กเล็ก" มาจากการติดเชื้อในครอบครัว และไม่มีวัคซีน อีกทั้งกลุ่ม "เด็กเล็ก" ยังเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้
แน่นอนว่าท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นในวิถีชีวิตใหม่ แต่สำหรับเด็กเล็ก กลับกลายเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กเล็กที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสมอง
ศาสตราจารย์เมียววะ มาซาโกะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการทางสมองและจิตวิทยามนุษย์ มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า ทารกแรกเกิดจนถึงอายุราว 1 ขวบจะมองหน้าและความเคลื่อนไหวของผู้คนรอบตัว และเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้าของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู สามารถรับรู้ได้ว่า นี่คือใบหน้าของคนใกล้ชิด เมื่อตา จมูก และปากบนใบหน้าปรากฏชัด หลังจากนั้นทารกก็เรียนรู้ที่จะแยกแยะสีหน้าที่แสดงอารมณ์แตกต่างกัน เช่น อารมณ์ดี หรือโกรธ การเห็นใบหน้าของคนในครอบครัวจึงจำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก
ขณะที่เด็กอายุระหว่าง 4-10 ปี เป็นช่วงที่กำลังพัฒนาความสามารถของสมองในการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น และความสามารถในการประเมินว่าคนอื่นคิดอะไร และตัวเองควรทำตัวอย่างไรในการสื่อสารระหว่างกัน
สิ่งที่พ่อแม่สามารถช่วยเหลือได้
หนึ่ง – พยายามหลีกเลี่ยงไม่พาลูกวัยเด็กเล็กออกนอกบ้าน
สอง – อยู่ภายในบ้านไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ต้องแน่ใจว่าจะไม่มีใครนำเชื้อมาติดเด็กได้
สาม – ไม่ให้คนภายนอกหรือกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงตัวเด็ก
สี่ – ใช้การสื่อสารภาษากายบ่อย ๆ กระตุ้นพัฒนาการลูกอย่างสม่ำสมอ
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนอกจากจะน่ากังวลใจต่อความปลอดโรคปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ในเมื่อสุดท้ายเราก็ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับมันให้ได้ หรือจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นก็ตาม แต่อย่าลืมว่าพัฒนาการของเด็กก็เติบโตทุกวัน รอไม่ได้เช่นกัน ก็ต้องปรับแผนที่จะอยู่กับโควิด-19 แบบรู้เท่าทัน และยังสามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกวัยเด็กเล็กได้เช่นกัน
ตัวช่วย 4 ข้อที่ยกมาข้างต้นน่าจะพอช่วยได้ในระดับสำคัญ