อธิบดีกรมการแพทย์แนะสังเกตภาวะ "MIS-C" มี "ไข้" ร่วมกับอาการระบบอื่น เจอได้ช่วงปลายสัปดาห์แรกของการติดโควิด ส่วนใหญ่มักพบช่วงสัปดาห์ที่ 2-6 ของการติดเชื้อ ย้ำหากมีไข้สูง 39 องศาข้ามวัน หรือมีอาการร่วมระบบอื่น มารับบริการฉุกเฉินที่ รพ. ย้ำเกิดน้อยมาก พบ 1 ในหมื่น
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์กรณีเด็กอายุ 2 ขวบ เสียชีวิตโดยมีการระบุเป็นลองโควิด ว่า สำหรับกรณีดังกล่าว ตนไม่ทราบประวัติของผู้ป่วย แต่จากการดูรายละเอียดตามข่าว ไม่น่าจะใช่ลองโควิด เนื่องจากลองโควิดจะต้องหายจากโควิดแล้ว 2-3 สัปดาห์ และอาการจะเจอหลังหายแล่วเป้นเดือนและมีอาการอยู่อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ต่อไปอีก แต่เคสนี้จากการดูข้อมูลเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเข้าได้กับภาวะการอักเสบของหลายอวัยวะในร่างกายในเด็ก (MIS-C) มากกว่า ซึ่งโดยหลักสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่จะเจอสัปดาห์ที่ 2-6 หลังติดโควิด ซึ่งเคสนี้เราไม่มีข้อมูลว่าติดโควิดมาก่อนหรือไม่ หรือติดโควิดแล้วไม่ทราบไม่มีอาการ
สำหรับอาการ MIS-C มีได้หลายอวัยวะ จะมี 2 อาการร่วมขึ้นไป คือ ไข้ ร่วมกับอาการในระบบอื่นๆ เช่น ระบบประสาทและสมอง ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งหากเกิดการอักเสบที่อวัยวะไหนก็จะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น มีอาการเหนื่อย อาจเกิดที่ปอดหรือหัวใจ หรือปวดหัวมากอาจเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งเด็กรายนี้ตามข้อมูลพบไข้ ร่วมกับระบบทางเดินอาหาร คือ อาเจียน และอุจจาระ
"ย้ำว่าภาวะ MIS-C เกิดน้อยมาก ไม่ได้เกิดขึ้นเยอะ ซึ่งในเด็กเราพบประมาณ 1 ในหมื่น อย่างไรก็ตาม กรณีเด็กติดโควิดสามารถทำการดูแลที่บ้านหรือ HI ได้ ซึ่งขณะนี้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยก็ออกคำแนะนำว่า สามารถมารักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือโอพีดีได้ ส่วนกรณีอาการสงสัยที่ต้องมา รพ. ไม่ว่าจะเป็นโควิดหรือภาวะ MIS-C เกณฑ์ในการมา รพ. คือ มีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสเกิน 24 ชั่วโมง ก้ควรมา หรือหากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ระบบทางหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ประสาท และหัวใจ ถ้าไข้าสูงบวกใจสั่น เต้นเร็ว หน้าแดง มีผื่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดหัวมาก ซึม ไม่รู้ตัว อาการใดอาการหนึ่ง ก็มาได้แล้ว มาฉุกเฉินได้เลย" นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ในการรักษา จะให้อิมมูโนโกลบูลินทางเส้นเลือด ซึ่งเป็นภูมิต้านทานที่พบในน้ำเหลืองหรือเลือด บางรายอาจให้สเตียรอยด์ หรือแอสไพริน ยาที่ลดการอักเสบโดยหลักการ ซึ่งอาการหลักๆ หนักๆ จะหายหลังรักษา แต่อาจมีอาการคงเหลือ ขึ้นกับภาวะของคนไข้ ว่ามีโรคร่วมหรือไม่ ช่วง MIS-C รักษาเร็วหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีโรคร่วม รักษาเร็ว กลับไปก็ใช้ชีวิตปกติได้โดยส่วนใหญ่ หากไม่เร็วก็อาจมีอาการคงเหลืออยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม เราเพิ่งรู้จักโควิดและ MIS-C ก็ต้องติดตามไปสักระยะ โดยให้ความรู้พ่อแม่ว่าหากเด็กมีอาการผิดปกติให้กลับมาตรวจติดตาม