อว.เดินหน้ากองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา สู่การปฏิรูปการศึกษาชาติ “เอนก” ชี้เปิดช่องให้มหา’ลัยทดลองทำหลักสูตรใหม่-แซนด์บอกซ์ ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและโลกยุคใหม่
วันนี้ ( 23 ก.พ.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าว “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา...ก้าวสำคัญของการปฏิรูปอุดมศึกษา” ที่โรงแรมพลูแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ อว.จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา กองทุนนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิณ จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อว.เพื่อขับเคลื่อนและช่วยสนับสนุนภารกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย และทำให้การดำเนินงานของ อว. ครอบคลุมสมบูรณ์ในทุกมิติ ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รมว.อว.กล่าวต่อว่า กองทุนฯ นี้ จะเป็นแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยคิดและทำหรือได้ทดลองหลักสูตรใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นเรื่องการปฏิบัติตามความต้องการของตลาด ตอบโจทย์ประเทศได้มากขึ้น เราต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนให้มากขึ้น ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ ได้มาทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์กับ อว. เพื่อผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์กว่าหมื่นคน ตามความต้องการของบริษัทไฮเทคที่มาขอรับการลงทุนใน EECi และเร็วๆ นี้ อว.ก็กำลังจะจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกยุคใหม่ เช่น Cyber Security นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล( Data scientist ) นักบูรณาการระบบในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (System Indicator) เป็นต้น ซึ่งเราต้องถ่อมตัวไปเรียนรู้จากเอกชน และคิดปรับเปลี่ยนเพื่อพลิกโฉมตัวเองตลอดเวลา เพื่อที่วันหนึ่งเราจะนำผู้อื่นและประเทศอื่นๆ ได้ในอนาคต
ทั้งนี้ กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาจะใช้แหล่งงบประมาณตามมาตรา 45 (3) งบพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และงบประมาณตามมาตรา 45 (4) งบเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งแตกต่างจากงบประมาณที่จัดสรรจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนหรือในพื้นที่เป้าหมาย ปัจจุบัน ดำเนินงานของกองทุนฯ อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการให้ทุนกับภาคอุดมศึกษา