ศบค.ไม่ปรับพื้นที่สี ยังคง 44 จังหวัดสีส้ม 25 จังหวัดสีเหลือง และ 8 จังหวัดสีฟ้าตามเดิม แม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ทะลุเส้นคาดการณ์สีแดง ส่วนอัตราเสียชีวิตยังต่ำ แต่มีแนวโน้มผู้เสียชีวิตสูงขึ้นตามการติดเชื้อจำนวนมาก ด้านเตียงยังมีเพียงพอ เน้นย้ำ CI ช่วยรองรับคนแยกกักที่บ้านไม่ได้
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า วันนี้มีสาระสำคัญ 5 เรื่อง เป็นเรื่องพิจารณา 2 เรื่อง มีรายละเอียดดังนี้ 1. สถานการณ์การแพร่ระบาด วันนี้ทั่วโลกติดเชื้อ 427 ล้านกว่าราย เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านกว่าราย เสียชีวิต 5.92 ล้านราย เพิ่มขึ้น 7,760 ราย อัตราเสียชีวิตลดลงจากเดิม 2% เหลือ 1.38% ขณะที่การติดเชื้อรายวันของทั้งโลก กราฟมีแนวโน้มลดลง การเสียชีวิตเป็นแนวระนาบไม่ได้สูงตามการติดเชื้อ ส่วนประเทศไทยแม้ระลอกโอมิครอนยอดติดเชื้อสูง แต่การเสียชีวิตรายวันยังต่ำ
วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อ 21,232 ราย เสียชีวิต 39 ราย อัตราเสียชีวิตระลอก ม.ค. 2565 อยู่ที่ 0.19% ถือว่าต่ำ เพราะความรุนแรงลดน้อยลงไป ผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการรักษา 173,605 ราย มีอาการหนัก 882 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 229 ราย ซึ่งผกผันตามจำนวนติดเชื้อที่สูงขึ้น จึงฝากให้ทั้งคนแข็งแรงและกลุ่มเปราะบางรีบมารับวัคซีน เพราะผู้เสียชีวิตวันนี้ 87% เป็นกลุ่มเสี่ยง 608
“สถานการณ์ติดเชื้อจริงตอนนี้ทะลุเส้นคาดการณ์สีแดงขึ้นไปแล้ว จากมาตรการที่เราผ่อนคลาย ดำเนินการกิจการกิจกรรม แม้ติดเชื้อไม่ได้ทำให้อาการมาก แต่กลุ่มเปราะบางจะมีอาการหนักและเสียชีวิตได้ จึงขอให้ช่วยกันไม่ประมาท การ์ดอย่าตก ส่วนสถานการณ์เสียชีวิตยังอยู่ใต้เส้นสีเขียว แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นหลักหลายหมื่น จึงต้องเร่งรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับทรัพยากรเตียง อัตราครองเตียงยังไม่มาก ทั้งประเทศครองเตียง 49.1% ซึ่งอยากให้สำรองเตียงไว้ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มป่วยวิกฤต และป่วยหนัก ส่วนอาการน้อยๆ อยากให้อยู่ศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2.1 หมื่นกว่าราย ส่วนลงทะเบียนดูแลรักษาที่บ้าน (HI) มี 4.7 หมื่นราย ส่วนประเด็นสายด่วนที่คนโทรคับคั่ง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการดูแลอย่างดี กรณีถ้าการดูแลที่บ้านไม่พร้อมที่จะแยกกัก ทำให้ต้องออกมาอยู่ข้างนอก ต้องให้ได้รับการดูแล ดังนั้น CI จึงสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ซึ่งผู้ว่าราชการ กทม.รายงานว่ามีเพียงพอ ขณะนี้มี 31 แห่ง เตียงเหลือ 1.9 พันเตียง โดยจะเปิดเพิ่ม 9 แห่ง อีก 970 เตียง สามารถเปิดได้วันที่ 26 ก.พ.นี้ ทางสายด่วน 1669 ก็มาช่วย 1330 และเพิ่มคู่สายตามสำนักงานเขตขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ ภาพรวมของการจัดระดับสถานการณ์ย่อยหรือพื้นที่สียังคงเดิม ข้อมูลทุกอย่างยังไม่เปลี่ยนแปลงไป โดยพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) อยู่ที่ 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด