"อนุทิน” ถกนัดแรกติดตามมติ สช. รับ 4 ข้อเสนอขับเคลื่อนสังคมไทยไร้แร่ใยหิน เสนอรัฐออก กม.แบนถาวร ชง สธ.-ศธ.นำร่องยกเลิกวัสดุแร่ใยหินก่อสร้าง รพ.-ร.ร.
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติรับข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนมติเกี่ยวกับแร่ใยหิน จำนวน 4 ข้อเสนอ คือ 1. เสนอให้รัฐต้องออกกฎหมายห้ามใช้แร่ใยหินอย่างถาวร เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม
2. เสนอให้ สธ. ที่กำกับรพ. สถานบริการด้านสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำกับดูแลโรงเรียน-สถานศึกษาทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานนำร่องในการยกเลิกวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างอาคารสถานที่
3. เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน รวมถึงรัฐบาลทั้งคณะ ควรมีนโยบายชัดเจนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ร่วมกันของทุกกระทรวงในระดับประเทศ
และ 4. เสนอให้กรมอนามัย ซึ่งมีกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 ภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดนิยามมูลฝอยและแนวทางปฏิบัติให้ครอบคลุมถึงการจัดการแร่ใยหิน
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงแนวทางการขับเคลื่อนอื่นๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร-รายวิชา-เนื้อหา-สื่อให้เด็กเรียนรู้อันตรายจากแร่ใยหิน และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องระบบการวินิจฉัย เฝ้าระวังและส่งต่อและระบบการรักษาผู้ป่วยโรคแร่ใยหินกับกลุ่มแพทย์ ฯลฯ รวมถึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ประเทศไทยเคยมีผลที่นำเสนอและมีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องคนไทยเสียชีวิตจากแร่ใยหิน ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่สามารถยืนยันถึงอันตรายได้ รวมไปถึงหากต้องการออกข้อกฎหมายห้ามใช้แร่ใยหิน ต้องให้ สธ. เป็นผู้สั่งการในระดับผู้บริหาร โดยควรทำจดหมายถึงกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางเพื่อให้ออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อบังคับว่าจะต้องไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง