xs
xsm
sm
md
lg

ติวทำร้านค้าออนไลน์-ฝึกอาชีพ “กักตัวโควิด” หวังสร้างรายได้ “สาธิต” ชี้ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ร่วมเอกชน เปิดโครงการสอนทำร้านค้าออนไลน์ ฝึกวิชาชีพ ผู้กักตัวโควิด เพิ่มช่องทางมีอาชีพสร้างรายได้หลังพ้นกักตัว บนเงื่อนไขร่วมให้ข้อมูลสอบสวนโรคครบถ้วน สนใจร่วมแล้วกว่า 2,229 ชุมชน

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดโครงการชุมชนวิถีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด 19 สานพลัง อสม. จิตอาสา ประชาชนร่วมใช้ “ระบบปฏิบัติการตัดวงจรโควิด-19 : หยุดความชะงักงัน สู่การกักกันตัวอย่างมีรายได้”

นายสาธิต ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการนี้เกิดจากหลักคิดว่าช่วง 10 กว่าวันจะทำอย่างไรให้เกิดอาชีพ เกิดรายได้ และให้เอกชนไปซื้อมา ดังนั้น ผู้ติดเชื้อไม่ว่ากักตัวที่บ้านหรือที่โรงแรม หากเข้าร่วมโครงการนี้ จะมีแพลตฟอร์มไปสอนให้คนกักตัวมีการอาชีพและมีรายได้ ซึ่งจะเริ่มจากหลักสุตรของการทำร้านค้าออนไลน์ ซึ่งจะสอนตั้งแต่การจดทะเบียนการค้าออนไลน์ การขายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ ระบบบัญชี ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งการขาย หรือกรณีในชนบทมีการสอนฝึกอาชีพ เช่น ผลิตใบจากเป็นหลังคาบ้าน ฝึกวิชาชีพที่หลากหลาย ขึ้นกับพื้นที่ไหนจะสอนวิชาอะไร ทำให้มีรายได้ได้ อย่างไรก็ตาม พอหลังจากการกักตัวหากทำสำเร็จต่อ ก็เปิดร้านค้าออนไลน์นั้นต่อได้ โดยอาจเปลี่ยนสินค้า แต่ใช้หน้าร้านออนไลน์เดิม เช่น ขายปลาร้าสับ ขายอะไรก็แล้วแต่ ให้เขามีร้านค้าออนไลน์ได้

“เป็นการสอนทำระบบร้านค้าออนไลน์ ซึ่งตอนนี้การขายออนไลน์เป็นที่นิยมมาก เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่จะฝึกให้คนกักตัวมีอาชีพ หรืออาชีพอื่นๆ ด้วยที่จะผลิตหลักสูตรขึ้นมาเพื่อไปสอน” นายสาธิต กล่าว

ถามถึงหลักเกณฑ์ผู้กักตัวที่จะเข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพ ทำร้านค้าออนไลน์ ต้องเป็นผู้ที่ตกงาน ไม่มีงานหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า ขึ้นกับความสมัครใจ หากสนใจก็เข้ามา แต่เราไม่ได้บังคับ เพราะถ้าไม่ได้สนใจเขาก็ไม่ได้เข้ามาร่วม เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเครื่องมือสำคัญให้คนกักตัวใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ทุกนาที ทุกชั่วโมง เป็นประโยชน์สำหรับเขาเอง เป็นการสร้างอาชีพ เราให้เบ็ดไม่ได้ให้ปลา

นายสาธิต กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไข คือ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องร่วมทำระบบสอบสวนโรคด้วย ซึ่งจะมีช่องทางให้ เพื่อตัดตอนวงจรแพร่ระบาด หากสมัครเข้าร่วมโครงการและลงข้อมูลได้ครบถ้วน จะเป็นประโยชน์ในแง่สอบสวนโรค เช่น ให้ข้อมูลผู้ที่สัมผัสกับเรา เป็นต้น ทำให้มีไทม์ไลน์เพื่อไปเตือนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เป็นต้น ซึ่งต้องขอให้ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย

ถามว่า มีการนำร่องแล้วกี่ชุมชนแล้ว นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้เราขยายโครงการไป มีผู้สนใจเข้ามาถึง 2,229 ชุมชน ยังมีชุมชนต่างด้าวอีก 2 แห่งเข้ามาด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น