สสส.–ภาคีเครือข่ายเด็กและครอบครัว ชู วาเลนไทน์ 2565 “รักลูกต้องกอด” หยุดใช้ความรุนแรง ลบความเชื่อ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ชวน เลี้ยงลูกเชิงบวก สร้างภูมิคุ้มใจ ส่งเสริมพัฒนาการ
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันวาเลนไทน์ปี 2565 ขอเชิญชวนผู้ปกครองใช้ “การกอด” เป็นสัญลักษณ์แทนความรัก ความอบอุ่น เนื่องในวันแห่งความรักกับเด็ก ๆ ร่วมมือ ร่วมใจกันหยุดความเชื่อ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ที่พบว่ามีส่วนสร้างบาดแผลในใจเด็ก เพราะการลงโทษด้วยความรุนแรงทางคำพูดหรือทำร้ายร่างกายส่งผลกระทบต่อจิตใจและพัฒนาการเด็กระยะยาว ตัวอย่างการใช้คำพูดเชิงบวกง่ายๆ คือ ลดการใช้เสียงดัง ไม่ออกคำสั่ง หยุดคำหยาบคาย หันมาใช้เหตุผลและความรักความเมตตา โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ 1. รับฟังและเคารพความคิดเห็นของเด็ก 2. ฝึกให้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเด็กเอง และ 3. ฝึกให้เด็กมีจิตใจ เอื้อเฟื้อกับคนอื่น หากผู้ปกครองปรับวิธีเลี้ยงเด็กเชิงบวกได้ สสส. เชื่อว่าเด็กจะเกิดพัฒนาการในทางที่ดี เกิดตัวตนที่ทั้งเข้มแข็งและอ่อนโยนเพราะซึมซับจากการเลี้ยงดูเด็กจะมีปัญหาพฤติกรรมลดน้อยลง เป็นเด็กเลี้ยงง่าย
“วันแห่งความรักนอกจากความรักวัยหนุ่มสาว ความรักจากครอบครัวเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ทำให้เด็กทุกคนเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีควบคู่กับการมีความคิดสร้างสรรค์ได้ ความรักเชิงบวกทำได้ง่าย ๆ เริ่มต้นจากการปรับ Mindset ในการเลี้ยงดูเด็ก อยากให้ผู้ปกครองมองว่า “การกอด” และ “การบอกรัก” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย สสส. สนับสนุนให้ครอบครัวแสดงความรักต่อกันด้วยวิธีเชิงบวกทั้งการแสดงออกทางร่างกายและคำพูด เพื่อหยุดความเชื่อ “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ที่มีผลเชิงลบกับเด็กเมื่อเติบโตขึ้น เพราะความรุนแรงจากการทำร้ายร่างกายและจิตใจจากคนในครอบครัวนั้นรักษายากกว่าบาดแผลทั่วไปที่เกิดจากการใช้ชีวิต” นางสาวณัฐยา กล่าว
นางสาวปิยภา เมืองแมน ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพพ่อแม่วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน กล่าวว่า วันวาเลนไทน์อยากส่งต่อเพลง “รักลูกก็ต้องกอด” ถึงผู้ปกครองทุกคน หลังได้รับแรงบันดาลใจจากองค์ความรู้วิธีเลี้ยงเด็กเชิงบวกจากการทำงานร่วมกับ สสส. เนื้อหาในเพลงจะใช้การกอดเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว โดยเนื้อร้อง ทำนอง และเอ็มวี ถูกสร้างสรรค์จากสมาชิกในโครงการที่มองว่าการกอดคือภูมิคุ้มใจที่ดี ปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายทั้งหมด 8 ตำบล อยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เชียงใหม่ นครนายก และฉะเชิงเทรา ที่ร่วมกันผลักดันให้ทุกครอบครัวแสดงความรักด้วยกันบ่อย ๆ เพื่อลดความรุนแรงในบ้าน สำหรับผู้ที่สนใจรับฟังเพลง “รักก็ต้องกอด” สามารถดาวน์โหลดได้ที่ยูทูบมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
“วันแห่งความรักอยากให้ทุกบ้านใช้การกอดและคำพูดเชิงบวกกับเด็ก ๆ เพราะทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย สุขภาพจิตดี และซึมซับพฤติกรรมอ่อนโยนจากผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำให้ความรุนแรงในครอบครัวหมดไปในอนาคต อยากให้ผู้ปกครองทุกคนตระหนักว่าความรักที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง แต่สามารถใช้การกระทำเชิงบวกง่ายๆ เช่น การกอด การบอกรัก จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาฟังเพลงรักลูกต้องกอด และส่งต่อเพลงนี้ไปถึงคนที่คุณรักและห่วงใย” นางสาวปิยภา กล่าว
นางสาวอัยลดา เรียบมา อายุ 19 ปี แกนนำแม่วัยรุ่น โครงการพัฒนาศักยภาพพ่อแม่วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีคนรู้จักชวนให้เข้าร่วม มีเป้าหมายเสริมสร้างทักษะเรื่องเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แต่หลังจากหลังเข้าร่วมพบว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น จากคนที่ใจร้อน โมโหง่าย ดุ หงุดหงิดใส่ลูก กลายเป็นคนที่ใจเย็นและเป็นผู้ใหญ่ จึงตัดสินใจเข้าร่วมพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ และผันตัวมาเป็นแกนนำแม่วัยรุ่นส่งต่อความรู้ให้ชุมชนที่มีปัญหาท้องไม่พร้อม เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็ก ส่งต่อวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง สิ่งที่หนึ่งพยายามย้ำกับแม่วัยรุ่นทุกคนคือ การแสดงความรักด้วยวิธีการดึงลูกมากอด เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะการดุ ตี ใช้คำพูดเชิงลบ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้าน และซึมซับการใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว