เมื่อวันที่ 7 ก.พ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) จัดประกวดโครงการประยุกต์ใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense ใช้งานได้จริงในโรงเรียนรอบชิงชนะเลิศในรูปแบบออนไลน์ สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ชิงรางวัลอุปกรณ์ HandySense พร้อมทุนพัฒนาโครงการฯ หวังเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีเกษตรที่ช่วยเติมเต็ม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียน และชุมชนอย่างยั่งยืน
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของสวทช.คือการทนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการดำเนินงานให้เกิดผลตอบโจทย์ไปสู่การใช้งานจริง ในรูปแบบ BCG economy Model ซึ่งเป็นโมเดลที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำทางเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่รระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้สังคมต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การบริโภค รวมทั้งการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งคนเมืองและต่างจังหวัด
การนำเอาแนวBCG Economy Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) คือการใช้ทรัพยากรชีวภาพที่มีมากมายและหลากหลายอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างที่สุดด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นำมาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่หรือใช้ให้ยาวนานที่สุดอย่างคุ้มค่า และสุดท้ายก็คือเรื่องของ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกันนั้น สวทช.จึงได้นำผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการดำเนินงานให้เกิดผลบรรลุดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ การส่งเสริมเรื่องเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนาที่ชื่อว่า HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ โดย เนคเทค สวทช.
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า “โครงการส่งเสริมสวนเกษตรอัจฉริยะในโรงเรียนยุคปกติใหม่ (New Normal) มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการปลูกฝังแนวความคิด สร้างแรงจูงใจของการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรไปประยุกต์ใช้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รู้จัก เข้าใจ และทดลองปฏิบัติจริง โดยเริ่มต้นจาก HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ได้ตั้งเป้าหมายให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) ภายใต้แนวคิด Smart Farming Open Innovation มุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้งานในราคาที่จับต้องได้ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ตฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย เพื่อขับเคลื่อน Smart Farm สู่สังคมไทย สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ ตอบโจทย์ BCG Model
HandySense เป็นชุดอุปกรณ์ที่ผนวกเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรและระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม จึงเป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อนำไปสู่การสร้างทัศนคติ หรือ มุมมองใหม่ ที่ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ หรือบูรณาการเทคโนโลยีทางด้านเกษตรกับกิจกรรมในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
โครงการฯ นี้ได้รับความสนใจโรงเรียนทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะกำหนดพื้นที่โครงการในภาคกลาง และ ภาคตะวันออกเท่านั้น โดยมีโรงเรียนส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 36 ทีม 24 โรงเรียน จาก 17 จังหวัด และคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในวันนี้ทั้งสิ้น 31 ทีม จาก 20 โรงเรียน จาก 14 จังหวัด โดยทุกข้อเสนอโครงการที่ส่งเข้ามาแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรที่โรงเรียนมีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนในโครงการดีๆ เช่นนี้ ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงวัตถุประสงค์หลักทั้ง 4 ข้อของสมาคมไทยไอโอที คือ 1) สร้างการรับรู้ในด้านเทคโนโลยีไอโอทีให้สังคม ไม่ว่าท่านจะอยู่ในบทบาทไหน นิสิต นักศึกษานักพัฒนานักวิจัยคณาจารย์ ให้รับรู้ประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีไอโอที 2) สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิคทักษะต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งมั่นที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญให้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป 3) การสร้างเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหรือหน่วยงานทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ 4) มุ่งมั่นที่จะสร้าง Use case สร้างงานให้เกิดขึ้นได้จริงไม่ว่าจะเป็นโครงการจากภาครัฐและเอกชน
หลังจากการจัดตั้งสมาคมไทยไอโอที ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น และในครั้งนี้สมาคมฯ ได้พิจารณาและเห็นศักยภาพของนักวิจัยของเนคเทค สวทช. ที่ได้วิจัยออกแบบและพัฒนา HandySense ที่ปัจจุบันได้เปิดเป็น Open Hardware Open Platform ซึ่งมีคุณประโยชน์ในหลายๆ บริบท ไม่ว่าจะใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเกษตรให้เป็นการเกษตรอัจฉริยะ หรือนำมาใช้ในการศึกษาทดลองให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาซึ่งสามารถเป็นอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในหมู่นักพัฒนาโดยมีการตั้งกลุ่มนักพัฒนาและผู้สนใจทาง Social Network ที่เรียกว่า HandySense Community ทางสมาคมฯ ตั้งใจสนับสนุนโครงการนี้ในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการร่วมพัฒนาและผลิตงานให้พร้อมสำหรับเชิงพาณิชย์ 2)การประชาสัมพันธ์ผลงานผ่านช่องทางสื่อต่างๆของสมาคมฯ
สำหรับกิจกรรมการประกวดโครงงานในครั้งนี้ทางสมาคมไทยไอโอทีและบริษัทซีนเนอร์ยี่เทคโนโลยีจำกัด บริษัทซูปร้าเทคโนโลยีจำกัด ได้ร่วมสนับสนุนของรางวัลทั้งหมดเป็นมูลค่า 10,000 บาท
ผลการแข่งขัน
รางวัลชนะเลิศ โครงการเกษตรอัจฉริยะด้วย HandySense จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์วิทยาเขตกําแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้รับอุปกรณ์ HandySense ครบชุด ประกอบด้วย บอร์ด เซนเซอร์แสง อุณหภูมิ ความชื้น และทุนสนับสนุน จำนวน 3,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการตู้เย็นมีชีวิต จากโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี ได้รับอุปกรณ์ HandySense ประกอบด้วย บอร์ด และ เซนเซอร์ความชื้น และทุนสนับสนุน จำนวน 2,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โครงการสวนเกษตรอัจฉริยะอนาคตใหม่ของโรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม จากโรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม จังหวัดนครปฐม ได้รับบอร์ด HandySense และทุนสนับสนุนจำนวน 1,000 บาท
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล
โครงการพัฒนาระบบ Smart Farm บูรณาการร่วมกับโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงและโรงเรียนปลอดขยะ จากโรงเรียนวังโมกข์พิทยาคม จังหวัดพิจิตร
โครงการระบบอัตโนมัติในการปลูกสะระแหน่จากน้ำทิ้งตู้เลี้ยงปลาควบคุมด้วย HandySense จากโรงเรียนศึกษานารี กรุงเทพมหานคร
ได้รับ ได้รับทุนสนับสนุนรางวัลละ 1,000 บาท