xs
xsm
sm
md
lg

ปวดทุกครั้งที่ก้าว ระวัง "ข้อเท้าเสื่อม" เรื่องใหญ่ของชีวิต ถึงขั้นล้มดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ็บปวดทุกครั้งที่ก้าวเดิน เป็นหนึ่งในอาการของโรคกระดูกข้อเท้าเสื่อม หากไม่รักษาอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัวและล้มง่าย 

กระดูกข้อเท้าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่ข้อเท้าเสื่อมเร็วกว่าปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีประวัติบาดเจ็บที่ข้อเท้ามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกระดูกข้อเท้าหัก เอ็นข้อเท้าบาดเจ็บหรือข้อเท้าไม่มั่นคง นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อข้ออย่างเกาต์หรือรูมาตอยด์และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ข้อเท้าเสื่อมเร็วกว่าปกติได้เช่นกัน 

นายแพทย์นรุตม์ชัย โชติกกำธร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้า โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า อาการเริ่มต้นของโรคกระดูกข้อเท้าเสื่อม ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวด บวม หรืออาจมีอาการข้อเท้าติดร่วมด้วย ในรายที่ข้อเท้าเสื่อมรุนแรงจะมีอาการปวดทุกครั้งที่ลงน้ำหนักหรือก้าวเดิน ทำให้การเดินไม่มั่นคง มีโอกาสล้มง่ายและเสี่ยงกระดูกหัก อีกทั้งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยไม่อยากเดิน ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ 

“หากมีอาการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยหาจุดกดเจ็บ ตรวจพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้า โดยแพทย์จะให้เอกซเรย์เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม” นายแพทย์นรุตม์ชัยกล่าว 

สำหรับการรักษาโรคกระดูกข้อเท้าเสื่อม ในระยะแรกของการรักษา แพทย์จะให้เริ่มทำกายภาพบำบัด ใส่อุปกรณ์พยุงข้อเท้าและตัดรองเท้าที่รองรับกับสรีระเท้า รวมถึงออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อยืดและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น และใช้ยาแก้ปวดและยาบำรุงผิวข้อ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีข้างต้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงกว่าเดิมจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็น การผ่าตัดแก้แนวข้อเท้า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมและการผ่าตัดเชื่อมข้อ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของโรค 

นายแพทย์นรุตม์ชัยแนะนำว่าการรักษากระดูกข้อเท้าเสื่อมที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้ข้อเท้าเสื่อมตั้งแต่แรก เพราะหากข้อเท้าเสื่อมแล้วจะไม่สามารถทำให้กลับไปเป็นข้อที่ปกติได้ โดยวิธีการลดความเสี่ยงที่สำคัญคือลดการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า เช่น ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการปะทะรุนแรงโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน สวมรองเท้าที่มีแผ่นรองเท้าและมีขนาดที่เหมาะสมกับเท้า ตลอดจนลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เท้าและข้อเท้ารับน้ำหนักมากเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น