ไทยเข้า "สังคมผู้สูงอายุ" โดยสมบูรณ์ในปี 65 ห่วงคนเป็นโสด ไม่มีลูกมากขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้า แนวโน้มพบ “ผู้ป่วยติดเตียง” กว่า 4 แสนคน แนะทำนโยบายหลักประกันรายได้ ดึง อปท. ร่วมออกแบบสิทธิ-สวัสดิการ-ที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “อนาคตสังคมผู้สูงอายุไทย ก้าวต่อไปอย่างไรบนความท้าทาย” มีเป้าหมายผลักดันนโยบายเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุทั่วประเทศ โดย นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า ปี 2565 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 9 ปีข้างหน้า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ จากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้มีผู้สูงอายุ “กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง” ประมาณ 3% หรือ 4 แสนคน จากผู้สูงอายุที่มีอยู่ประมาณ 13 ล้าน โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือวางโครงสร้างกับสังคมผู้อายุระยะยาว
นายวรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุพบความหลากหลายในชีวิตประจำวัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ 1.รายได้ไม่เพียงพอ 2.ไม่มีหลักประกันสุขภาพ และ 3.สภาพแวดล้อมในบ้านและสังคมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานชีวิต เช่น ได้รับการศึกษาที่ไม่สูง ไม่รู้วิธีการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ นโยบายไม่ตอบโจทย์ต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน และในอีก 20 ปีข้างหน้าพบผู้สูงอายุมีแนวโน้มครองโสด ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก หรือมีลูกน้อยลง การจัดทำนโยบายดูแลคุณภาพชีวิตให้ครอบคลุมทุกกลุ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจและสุขภาพ 7 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงอายุที่ผู้พิการ-ทุพพลภาพ 2.ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม 3.ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง-ไร้บ้าน 4.ผู้สูงอายุยากจน 5.ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสถานะบุคคล 6.ผู้สูงอายุที่ย้ายถิ่นกลับบ้าน และ 7.ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ
นายวรเวศม์ กล่าวต่อว่า ระยะสั้นมีข้อเสนอให้กำหนดนโยบายเรื่องหลักประกันด้านรายได้ มาตรการบำนาญให้เป็นเป้าหมายของสังคมที่ชัดเจน และควรปรับปรุงให้เป็นแผนใหญ่พร้อมดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ส่วนระยะกลางต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมดูแลผู้สูงอายุที่จะย้ายถิ่นกลับด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดูแลให้ความช่วยเหลือจะต้องบูรณาการหลายภาคส่วน โดยอาจต้องนำแนวคิดเรื่องการอยู่อาศัยในที่เดิมมาวางแผนเรื่องการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี