ตั้งแต่เล็กจนโตจำได้ว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นช่วงเวลาแห่งความคึกคัก และคึกครื้นสำหรับครอบครัวเรา จะมีการรวมตัวของญาติพี่น้องจำนวนมาก ยิ่งช่วงที่ต้นตระกูลคืออากงอาม่ายังมีชีวิตอยู่ ญาติพี่น้องประเภทครบทั้งรุ่นลูก หลาน เหลน ด้วยแล้วมีจำนวนเกือบครึ่งร้อย
ดิฉันเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่มีอากงอาม่าข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีนเพื่อมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย เวลาจะพบปะวงศาคณาญาติ เป็นเรื่องใหญ่และจะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ต่างคนต่างก็พาครอบครัวมาร่วมไหว้บรรพบุรุษ และถือโอกาสรับประทานอาหารร่วมกัน จำได้ว่าถึงขนาดวันตรุษจีน พ่อแม่จะให้ลูกหยุดเรียน ซึ่งสำหรับเด็กแล้วชื่นมื่นเป็นยิ่งนัก เพราะพ่อแม่จะเป็นผู้ลาหยุดให้เสร็จสรรพ
ในประเทศจีนเองก็จะให้ความสำคัญกับวันตรุษจีน มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลาหลายวัน ผู้คนก็จะหยุดงานและเดินทางท่องเที่ยวข้ามเมืองกันล้นหลาม
แต่พอเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทศกาลตรุษจีนไม่เหมือนเดิมมา 2 ปีแล้ว
ที่ผ่านมาประเทศจีนมีนโยบายในการควบคุมโควิดให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ทำให้เทศกาลตรุษจีนช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหงอยเหงายิ่งนัก
ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีนซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้รัฐบาลยกเลิกการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนทั้งประเทศ งดการรวมตัวของผู้คน ถึงขนาดที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนใช้วิธีจ่ายอั่งเปาและบัตรกำนัลต่างๆ จูงใจคนไม่ให้ออกเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีน ลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่และตามเมืองต่างๆ นับล้าน ไม่สามารถเดินทางข้ามเมืองเพื่อกลับไปเยี่ยม หรือกลับภูมิลำเนา หรือไหว้บรรพบุรุษได้
พอมาปีนี้แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายขึ้น แต่ตัวเลขของผู้คนที่เดินทางก็ลดลงเกือบ 40 เปอร์เซนต์ ยังถือว่า ต่ำกว่าเมื่อช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2019 ที่ยังไม่เกิดการระบาด ช่วงตรุษจีนจะมีการเดินทางมากถึง 3,000 ล้านครั้ง
ไม่ใช่แค่จีนแผ่นดินใหญ่ที่ปีนี้การเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนไม่คึกคักเท่าทุกปี ที่เกาหลีใต้ก็ต้องมีการขอความร่วมมือประชาชนเพื่อให้งดการเดินทางช่วงเทศกาล ส่วนฮ่องกงก็ประกาศยกเลิกงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน รวมถึงสั่งล็อกดาวน์หลายพื้นที่ และมีการสั่งปิดโรงเรียนไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ประเทศจีนมีนโยบายในการควบคุมโควิดให้ตัวเลขเป็นศูนย์ สาเหตุหนึ่งก็เนื่องเพราะในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 จะมีการจัดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนประกาศความพร้อม แม้ต้องเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือและบริหารจัดการมหกรรมกีฬาครั้งนี้ให้ปลอดภัยได้ ก็ต้องส่งกำลังใจให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ด้วยสถานการณ์เหล่านี้จึงทำให้เทศกาลตรุษจีนไม่คึกคัก และส่งผลให้เกิดการปรับตัวในยุค New Normal บรรดาผู้คนก็พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองมากขึ้น ปีนี้ก็เห็นได้ชัดว่าผู้คนปรับพฤติกรรมในช่วงวันตรุษจีน เช่น
หนึ่ง - สั่งซื้อของทางออนไลน์
สอง – ให้อั่งเปาด้วยการโอน
สาม – ใส่หน้ากากอนามัยเข้าหากัน
สี่ - ตรวจ ATK ก่อนพบกัน
ห้า - ลดจำนวนเวลาในการพูดคุยกัน
เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อสถานการณ์ไม่อำนวย ก็ปรับตัวและไม่ยึดติดกับข้อห้ามหรือเคร่งคัดกับธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาแบบตายตัว
"Carol S. Dweck" นักจิตวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนหนังสือเรื่อง “ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา : Mindset” ระบุว่าความสำเร็จในชีวิตของคนเราขึ้นอยู่กับความคิด 2 แบบ คือ ความคิดแบบยึดติด และความคิดแบบยืดหยุ่น
ผู้ที่มีความคิดยึดติดเป็นพวกที่เชื่อว่าความสามารถของตนเองเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก พวกเขามักคิดว่าตนเองเก่งหรือแย่ในด้านใดด้านหนึ่งอย่างสุดโต่ง และเมื่อเจอกับอุปสรรค ก็มักจะยอมแพ้โดยง่าย ในทางกลับกัน คนที่ความคิดยืดหยุ่น พวกเขาเชื่อว่าคนเราสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ คนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนตลอดเวลา
หากเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดแบบยึดติดกับกลุ่มคนที่มีความคิดแบบยืดหยุ่น จะพบว่าคนที่มีความคิดยืดหยุ่นจะรู้สึกสงบและมีความสุขในชีวิต เพราะพวกเขาสามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้ดี และมักจะประสบความสำเร็จ
ความคิดเป็นตัวกำหนดทิศทางของชีวิต ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ และถ้ามองโลกในแง่ดี มนุษย์เราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้ถ้ามีความคิดยืดหยุ่น ใครจะไปรู้ว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านไปแล้ว เราจะต้องเจอกับสถานการณ์อะไรอีกหรือเปล่า
การปรับตัว ปรับใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้กับทุกสถานการณ์ เป็นเรื่องจำเป็น
ไหนๆ ก็ไหนๆ ตรุษจีนยุคโควิด เราก็เรียนรู้ได้
“ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้”