เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุม PMU Forum ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อชี้แจงแนวการเตรียมข้อมูลเพื่อการชี้แจงงบประมาณปีงบประมาณ 2566 โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. และ คณะผู้บริหารของหน่วยบริหารจัดการทุน ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ ว่า สกสว. ได้จัดทำคำของบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาทตามที่ได้รับอนุมัติกรอบงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี และเสนอต่อสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นคำขอที่กลั่นกรองจากคำของบประมาณของกว่า 160 หน่วยงาน ที่ดำเนินการตามกลยุทธ์และเป้าหมายของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และตอบพันธกิจของหน่วยงาน ในขณะเดียวกัน สกสว. ได้จัดทำแบบฟอร์มข้อมูลผลงานเด่น ปี 2563-65 เพื่อให้แต่ละ PMU นำส่งขอมูลผลการดำเนินงาน เพื่อเตรียมนำเสนอผลงานของกองทุน ววน. แก่สาธารณะและสภาผู้แทนราษฎร โดยเชื่อว่าจะมีผลงาน ผลลัพธ์ ผลกระทบจากการวิจัย ที่ชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังเข้าสู่การดำเนินงานเข้าสู่ป็นปีที่ 3 ของการประกาศใช้จัดตั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ๒๕๖๒ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของ สกสว. รวมถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
โดย สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุน จะจัดเตรียมผลการดำเนินการที่เป็นผลงานเด่น 13 ด้านที่เป็นรูปธรรม มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ หรือการขยายผลของแต่ละระดับ มีผู้รับประโยชน์หรือผู้ใช้ประโยชน์ และผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมในวงกว้างอย่างชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นฐานมูลค่าและคุณค่าของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนด้าน ววน. (Impact-based Budgeting) ของประเทศ ที่ สกสว. และ หน่วยบริหารจัดการทุนร่วมกันดูแล
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวแนะนำถึงการเตรียมข้อมูลเพื่อการชี้แจงว่า เป็นกระบวนการที่สำคัญ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญตามผลกระทบความคุ้มค่าโดยเปรียบเทียบ (Relative Impact Index) ลำดับความสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบายที่กำหนดในแผนด้าน ววน. และ การใช้งบประมาณ ทั้งในส่วนที่เป็นแผนงานใหม่และแผนงานต่อเนื่อง รวมถึงการนำเข้าข้อมูลโครงการที่ออกสัญญาและความก้าวหน้าในการใช้จ่ายงบประมาณของ PMU ปีงบประมาณ 2563-2564 จากฐานข้อมูล NRIIS แสดงให้เห็นถึงการทำงานด้วยระบบฐานข้อมูลในเชิงรูปธรรม คุ้มค่าแก่การลงทุน และมีความโปร่งใส
อย่างไรก็ดี นอกจากแนวการเตรียมข้อมูลเพื่อการชี้แจงงบประมาณปีงบประมาณ 2566 และการนำเข้าข้อมูลโครงการที่ออกสัญญาและความก้าวหน้าในการใช้จ่ายแล้ว การประชุมดังกล่าว มีการนำเสนอความพร้อมในการจัดนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP ACT Fair 2022) ในวันที่ 4-6 เมษายน 2565 เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้และรับทราบ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 หรือ Thailand Research and Innovation Utilization Promotion Act (TRIUP Act)” และการส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. สู่การใช้ประโยชน์ต่อไป