xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผย 3 ปัจจัยแนวโน้มโควิด-19 อาจพ้นการระบาดใหญ่ เข้าสู่โรคประจำถิ่นในปีนี้ แนะ 10 ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โควิด- 19 ค่อนข้างคงตัว คาดพ้นการระบาดใหญ่ภายในปีนี้ ด้วย 3 ปัจจัย คือ เชื้อกลายพันธุ์ไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น อัตราป่วยคงที่ และคาดการณ์การระบาดได้ ส่วนจะเป็นโรคประจำถิ่น โรคติดต่อทั่วไป หรือโรคตามฤดูกาล ขึ้นกับนิยามที่แตกต่างกัน เผยคณะวิชาการออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มเติม 5 เรื่อง พร้อมแนะ 10 ขั้นตอนปฏิบัติดูแลตนเอง หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า หลังปีใหม่ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์โควิด- 19 ได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่หลายประเทศมีอัตราการติดเชื้อแบบก้าวกระโดด แต่เราได้รับความร่วมมือจากประชาชนทำให้การระบาดไม่มากนัก แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการติดต่อในกลุ่มเล็กๆ มีกิจกรรมที่เสี่ยงสูง เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน จึงยังต้องย้ำเรื่องการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับนิยามเกี่ยวกับโรคติดต่อขึ้นกับวัตถุประสงค์ ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ 1.นิยามตามกฎหมาย จาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ได้แก่ โรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคระบาด เป็นนิยามสำหรับใช้ในการควบคุมโรค เพื่อมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละระดับ 2.นิยามทางสาธารณสุข ทางการแพทย์ และระบาดวิทยา เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจได้ตรงกัน ได้แก่ "Pandemic" การระบาดใหญ่ทั่วโลก , "Epidemic" โรคระบาด ที่ระบาดรวดเร็วแต่ขอบเขตเล็กกว่า และ "Endemic" โรคประจำถิ่น ซึ่งอัตราติดเชื้อต้องค่อนข้างคงที่ สายพันธุ์ค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงจนรุนแรงมาก และคาดการณ์การระบาดได้

"การระบาดใหญ่ทั่วโลกมี 3 ระยะ คือ Pre-Pandemic ก่อนระบาดทั่วโลก, Pandemic การระบาดทั่วโลก อาจกินเวลาสั้นๆ 1-2 ปี หรือหลายปี และ Post-Pandemic ซึ่งเชื่อว่าโรคโควิด 19 จะผ่านการระบาดใหญ่เข้าสู่ระยะ Post-Pandemic ภายในปีนี้ ด้วย 2 เหตุผล คือ คนทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านโดส ประเทศไทยฉีดเกิน 115 ล้านโดส และไวรัสกลายพันธุ์ล่าสุดคือโอมิครอน แม้ระบาดเร็วแต่ความรุนแรงน้อยลง จึงน่าจะควบคุมและคาดการณ์การระบาดได้ โดยอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น โรคติดต่อทั่วไป หรือโรคตามฤดูกาล ตามแต่นิยามที่แตกต่างกันไป เช่น ไข้เลือดออก เป็นโรคประจำถิ่นและเป็นโรคตามฤดูกาล เพราะระบาดในพื้นที่ภูมิภาคนี้และมีรูปแบบการระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะรู้ว่าเป็นการระบาดตามฤดูกาลหรือไม่ ต้องใช้เวลาหลายปีในการดูรูปแบบการระบาด" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพิ่มเติม ดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เดิมให้เรียงจากเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำฉีด mRNA และต่อด้วยไวรัลเวกเตอร์ได้ ดังนั้น ผู้ที่ฉีดไฟเซอร์เข็มแรกแล้วมีปัญหา สามารถเปลี่ยนไปฉีดแอสตร้าเซนเนก้าได้ 2.ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด เดิมให้เว้นช่วง 3 เดือนแล้วฉีดวัคซีน แนะนำให้ลดเหลือ 1 เดือน 3.ผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม เดิมให้ฉีด mRNA แต่หลายคนไม่สบายใจหรือมีประวัติแพ้มาก่อน ให้ฉีดแอสตร้าฯ เข็มสามได้ 4.เด็กอายุ 12-17 ปีที่รับซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถรับเข็มสามเป็นไฟเซอร์ได้ และ 5.ฉีดซิโนแวคในอายุ 3-17 ปีได้ หลังจาก อย.ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมแล้ว

ด้าน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 8,008 ราย เสียชีวิต 16 ราย ภาพรวมผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยอาการหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจยังคงตัว สถานการณ์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต เป็นเพราะการร่วมมือทำตามมาตรการ โดยเฉพาะ VUCA และ COVID Free Setting ส่วนจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสถานการณ์คงตัวเข่นกัน ยกเว้น กทม.และสมุทรปราการ ซึ่งพบการติดเชื้อในสถานประกอบการ โรงงาน และชุมชน ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัปดาห์นี้จะมีการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศระบบ Test &Go

สำหรับผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ แบ่งเป็น ผู้สัมผัสที่ไม่ใกล้ชิด และผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็น สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ และสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง โดยผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง คือ ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือใส่ไม่ถูกต้อง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สวมชุดป้องกัน และมีการสัมผัส 3 กรณี คือ 1.ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือเข้าข่ายว่าติดเชื้อตั้งแต่วันที่เริ่มป่วยหรือ 3 วันก่อนเริ่มป่วย 2.อยู่ใกล้หรือพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตรนานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามใส่ และ 3.อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที โดยแนวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง เรียกว่ามาตรการ "7+3" คือกักตัวที่บ้าน 7 วัน สังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน และตรวจ ATK 2 ครั้ง จากเดิมให้กักตัว 14 วัน แต่เนื่องจาก "โอมิครอน" มีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้น ประกอบกับมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และ RT-PCR กระจายทั่วถึงทั้งประเทศ และฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศมากกว่า 70% จึงช่วยให้พิจารณาลดระยะกักตัวลงเหลือ 7 วันและสังเกตอาการ 3 วันได้

ทั้งนี้ 10 ขั้นตอนการดูแลตนเองหากเข้าข่ายผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง คือ 1.ตรวจสอบอาการตนเองหรือเช็กประวัติการสัมผัสใกล้ชิด หากสัมผัสมาเกิน 10 วันถือว่าพ้นความเสี่ยง แต่หากอยู่ในช่วง 10 วัน ต้องดูว่าใกล้ชิดจากอะไร 2.ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ป้องกันตนเองสูงสุด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 100% 3.กักตัวเองที่บ้าน แยกเครื่องใช้ส่วนตัว สำรับอาหาร ไม่คลุกคลีใกล้ชิด งดทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และแจ้งทุกคนที่บ้านทราบ หากไม่สามารถแยกห้องนอนได้ ให้เว้นพื้นที่นอนมากขึ้น 4.ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 1 ในช่วงวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย 5.หากผลเป็นลบให้กักตัวเองที่บ้านจนครบ 7 วัน 6.เฝ้าระวังสังเกตอาการ 3 วัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เลี่ยงการออกนอกบ้าน กรณีจำเป็นต้องไปทำงานหรือออกนอกบ้าน ให้เลี่ยงการใช้สถานที่สาธารณะและขนส่งสาธารณะ งดร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนจำนวนมาก

7.ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 นับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วยหรือกลับจากสถานที่เสี่ยง 8.หากผลเป็นลบ จะจบขั้นตอนมาตรการ 7+3 9.หากผลตรวจ ATK เป็นบวก กรณีไม่มีอาการป่วยหรือป่วยเล็กน้อยให้โทร 1330 สปสช. จะมีการปรับให้เป็นการแยกกักที่บ้าน รับเครื่องตรวจวัดออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ มีผู้ประสานโทรติดตามอาการป่วย และ 10.หากมีอาการป่วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอกมาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้โทรประสานผู้ติดตามอาการ หรือประสานพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

"สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติไม่ให้ตนเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยขอให้แยกรับประทานอาหาร สวมหน้ากากตลอดเวลา สถานที่ทำงานทำตามมาตรการ VUCA ฉีดวัคซีนครบ ป้องกันตนเองทุกครั้ง ร้านค้า สถานประกอบการใช้มาตรการ COVID Free Setting และตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์" นพ.จักรรัฐ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น